xs
xsm
sm
md
lg

8 กลิ่นหอมแทนความรัก “วันวาเลนไทน์” เปิดวิธีทำ “น้ำหอมกลิ่นกุหลาบ” เป็นของแทนใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

ช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ หรือวันแห่งความรัก “ดอกกุหลาบ” มักถูกนำมาใช้เป็นสื่อแสดงถึงความรักที่มอบให้แก่กันและกัน แต่ดอกไม้เมื่อมีวันเบ่งบานก็ต้องมีวันร่วงโรยเหี่ยวเฉาไปตามกาลเวลา กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จึงแนะนำมอบของขวัญแทนความรักที่ยั่งยืนกว่าด้วย “เครื่องหอมกลิ่นกุหลาบ” เปรียบประหนึ่งความรักที่หอมหวาน และยั่งยืนยาวนานกว่าดอกกุหลาบสด

นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริญสิริพงศ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า วัยรุ่นมักมอบดอกกุหลาบแทนความรัก แต่ความงามก็อยู่แค่ประมาณ 24 ชั่วโมง หากอยากให้ความรักจากดอกกุหลาบอยู่ยาวนานกว่านั้น ก็สามารถนำกลีบดอกกุหลาบที่ได้รับมาต้มกับน้ำเดือดในอัตรา 4 - 5 ดอกต่อน้ำ 1 ลิตร สามารถนำมาดื่มได้ ซึ่งกุหลาบมีสรรพคุณช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย กระชุ่มกระชวย หรือนำมาใส่ขวดสเปรย์ฉีดเพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่ผิวได้ เพราะมีสารที่ช่วยบำรุงผิวพรรณ แต่ถ้าอยากให้กุหลาบอยู่ได้นานกว่านั้นก็อาจนำมาทำเป็นน้ำหอมก็สามารถคงความหอมของกุหลาบไว้นานทั้งปี จึงอยากเชิญชวนวัยรุ่นไทย หรือผู้ที่จะมอบความรักให้แก่กัน นอกจากมอบกุหลาบสดแล้ว อาจลองมอบผลิตภัณฑ์จากกุหลาบในรูปแบบที่เป็นเครื่องหอมกลิ่นกุหลาบ เช่น น้ำหอม น้ำอบ น้ำปรุง สบู่ดอกกุหลาบ แป้งกลิ่นกุหลาบ หรือน้ำดอกกุหลาบ เป็นต้น ก็สามารถใช้เป็นสิ่งของแทนใจได้เช่นกัน

“กุหลาบมีการนำมาใช้ประโยชน์ด้านยาหลายรูปแบบ นอกจากดอกสดที่ใช้ต้มน้ำดื่มแล้ว ดอกแห้งในตำรายาไทยก็สามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมยาหอมเกสรต่าง ๆ ได้ ขณะที่ตำรายาจีนใช้ดอกตากหรืออบแห้งชงเป็นน้ำชาดื่ม มีสรรพคุณช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดี บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น อารมณ์ดี แก้ร้อนใน ช่วยให้นอนหลับ แก้อ่อนเพลีย ทำให้ผิวเรียบเนียน” นพ.ณัฐวุฒิ กล่าว

สำหรับการทำน้ำหอมจากกุหลาบด้วยตนเอง เพื่อมอบเป็นของขวัญในวันแห่งความรัก นายวิฑูรย์ วิไลตระกูล ผู้ผลิตเครื่องหอมสิริกร เปิดเผยวิธีในการทำน้ำอบกลิ่นกุหลาบ ว่า น้ำอบกลิ่นกุหลาบหากเทียบกับของต่างประเทศแล้วก็เท่ากับโคโลญจน์ เพียงแต่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ขั้นตอนในการทำนั้นเพียงนำกลีบดอกกุหลาบมอญมาต้มจนได้น้ำที่มีสีแดง จากนั้นจึงนำมาอบร่ำให้ได้กลิ่นหอม ซึ่งขั้นตอนในการอบร่ำนั้น ส่วนผสมคือ กำยาน ขี้ผึ้ง น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายแดง เทียนอบ พิมเสน มะกรูด ชะลูด แป้งร่ำ มาบดให้ละเอียดจนกลายเป็น “ผงอบร่ำน้ำอบ” จากนั้นจึงนำน้ำกุหลาบมอญมาใส่ในโถ แล้ววาง “ทวน” ไว้ตรงกลาง จึงค่อยนำ “ตะคัน” ที่เผาไฟให้ร้อนมาวางลงบนทวน จากนั้นนำผงอบที่ได้มาวางไว้บนตะคัน ก็จะเกิดควันที่มีกลิ่นขึ้น จากนั้นให้นำฝามาปิดครอบโถเพื่อกักควันเอาไว้ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงควันจึงหมด กลิ่นจากควันที่เกิดขึ้นก็จะอยู่ภายในน้ำกุหลาบ เมื่อครบ 2 ชั่วโมงแล้วก็คนน้ำให้เข้ากันจากนั้นทำขั้นตอนการอบร่ำตามเดิมประมาณ 10 ครั้ง

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ต่อมานำ “แป้งหิน” มาบดให้ละเอียดใส่ไว้ในโถอีกใบ วางทวนลงกลางโถ แล้วอบร่ำด้วยวิธีการเดียวกัน 10 ครั้งเช่นกัน จากนั้นจึงค่อยนำน้ำกุหลาบและแป้งหินที่ผ่านการอบร่ำมาผสมกับหัวน้ำหอม ก็จะได้น้ำอบกลิ่นกุหลาบไว้ใช้ หรือนำไปใส่ขวดสเปรย์ฉีดเป็นน้ำหอมก็ได้

นพ.ณัฐวุฒิ ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากกุหลาบที่นำมาใช้สื่อความรักแล้ว จริง ๆ ยังมีพรรณไม้หอมอีกหลายชนิดที่นำมาสื่อความรักในหลากหลายมุมด้วย

“กลิ่นกุหลาบ” แทนความหมายของ “รักล้นใจ” เพราะมีกลิ่นหอมชวนให้หลงใหล น่าจดจำ สื่อถึงรักแรกพบในทำนองตกหลุมรัก

“กลิ่นมะลิ” แทนความหมายของ “รักอบอุ่น” เพราะมีกลิ่นหอมอบอุ่น สื่อถึงความรักของแม่ที่มีต่อลูก

“กลิ่นราตรี” แทนความหมายของ “รักรัญจวน” เพราะมีกลิ่นหอมหวาน สื่อถึงความรักที่หวานนุ่มนวล

“กลิ่นโมก” แทนความหมายของ “พลังแห่งรัก” เพราะมีกลิ่นหอมเย็นที่มีพลังในตอนเช้า จึงสื่อถึงความรักที่ทรงพลัง

“กลิ่นปีบ” แทนความหมายของ “รักสดใส” เพราะมีกลิ่นหอมสดชื่นในช่วงสาย ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องทำให้เกิดความกระปรี้กระเปร่า

“กลิ่นการะเวก” แทนความหมายของ “รักห่วงใย” เพราะมีกลิ่นหอมที่หนักแน่น และเป็นสัญลักษณ์ของความคิดถึง

“กลิ่นลีลาวดี” แทนความหมายของ “ค้นหารัก” เพราะมีกลิ่นหอมที่ชวนค้นหาและน่าประทับใจ

“กลิ่นพลับพลึง” แทนความหมายของ “รักซึมลึก” เนื่องจากมีกลิ่นหอมอ่อน ผ่อนคลาย สื่อถึงความรักที่ซึมลึกคือค่อย ๆ ซึมซับไปเรื่อย ๆ

“กรมฯ พยายามสนับสนุนการนำภูมิปัญญาดั้งเดิมมาใช้ ที่สำคัญ การทำเครื่องหอมแบบนี้ปราศจากสารเคมี เป็นวิธีแบบธรรมชาติถือว่าปลอดภัย แต่การส่งเสริมให้ทำในระดับอุตสาหกรรมนั้น ถือว่ายังมีข้ำจำกัดอยู่ เพราะอย่างการทำน้ำหอมกมีอายุใช้งานได้ประมาณ 2 ปี ต่างจากของต่างประเทศที่มีการใส่สารสังเคราะห์เพื่อให้สามารถใช้ได้เป็น 10 ปี” นพ.ณัฐวุฒิ กล่าว





ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น