xs
xsm
sm
md
lg

บริจาคเลือด 24 ครั้ง รักษาฟรี!! กาชาดแจงเฉพาะผู้ป่วยในสามัญ รพ.กาชาด ย้ำระเบียบเก่าช่วยคนไร้สิทธิ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สภากาชาดแจง บริจาคเลือด 24 ครั้ง รักษาฟรี ลดค่าผ่าตัดครึ่งหนึ่งเรื่องจริง แต่เฉพาะเป็นผู้ป่วยในห้องสามัญ รพ. สังกัดสภากาชาดไทย เผย เป็นระเบียบเก่ามาก ออกมาช่วยเหลือผู้ไม่มีสิทธิการรักษา แต่มาบริจาคเลือด ชี้ ปัจจุบันให้ใช้ตามสิทธิประโยชน์ที่มีก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้สังคมออนไลน์มีการส่งต่อข้อมูลจากเฟซบุ๊ก “รู้ไว้ไม่โง่” เป็นจำนวนมาก โดยระบุถึงผู้บริจาคโลหิต 7 ครั้งขึ้นไป เมื่อเป็นผู้ป่วยใน ของโรงพยาบาลสังกัดสภากาชาดไทย ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา เสียค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยสามัญ ถ้าอยู่ห้องพิเศษ ผ่าตัด ผ่าตัดคลอดบุตร จะเสียเพียงกึ่งหนึ่งของอัตราที่กำหนด ผู้บริจาคโลหิต 24 ครั้งขึ้นไป เป็นผู้ป่วยใน ของโรงพยาบาลสังกัดสภากาชาดไทย ได้รับการยกเว้นเฉพาะค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยสามัญ ถ้าอยู่ห้องพิเศษ ผ่าตัด ผ่าตัดคลอดบุตร จะเสียเพียงร้อยละ 50 ของอัตราที่กำหนด

ส่วนผู้บริจาคโลหิตตั้งแต่ 18 ครั้งขึ้นไป อาศัยอำนาจจากกระทรวงสาธารณสุข ตามความในประเภท ข. ที่มีหนังสือรับรองจากสภากาชาดไทยว่าได้บริจาคโลหิตตั้งแต่ 18 ครั้งขึ้นไป ได้รับการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล และถ้าอยู่ห้องพิเศษ ได้รับความช่วยเหลือค่าห้องและค่าอาหารเพียงร้อยละ 50 ของอัตราที่กำหนดไว้ ผู้บริจาคโลหิตตั้งแต่ 7 ครั้งขึ้นไป อาศัยอำนาจจากกระทรวงสาธารณสุข ตามความในประเภท ค. ที่มีหนังสือรับรองจากสภากาชาดไทยว่าได้บริจาคโลหิตตั้งแต่ 7 ครั้งขึ้นไป ได้รับการช่วยเหลือเฉพาะค่าห้องพิเศษและค่าอาหารพิเศษไม่เกินสิทธิอันพึงเบิกได้จากหน่วยงานต้นสังกัดก่อน ส่วนที่เกินสิทธิให้เรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 สำหรับผู้ไม่มีสิทธิ ได้รับความช่วยเหลือเพียงร้อยละ 50 ของอัตราที่กำหนดไว้ และสิทธินี้จะใช้ได้เฉพาะผู้ที่ไม่มีสิทธิอย่างอื่น เช่น ประกันสังคม หรือข้าราชการ และจะใช้ได้เฉพาะผู้ป่วยใน เมื่อได้ห้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลแล้ว โดยให้ญาตินำบัตรประจำตัวของผู้บริจาคโลหิต ขอหนังสือรับรองผู้บริจาคโลหิตได้ที่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์ เพื่อนำไปลดหย่อนการรักษาพยาบาลเป็นครั้ง ๆ ไป สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2263 9600 ต่อ 1813

พญ.อุบลวัณณ์ จรูญเรืองฤทธิ์ ผอ.ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นสิทธิประโยชน์ที่ออกมาค่อนข้างจะนานมาก และยังไม่ได้มีการแก้ไข เบื้องต้นหากผู้บริจาคโลหิตเกิน 7 ครั้งขึ้นไป หากเจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดสภากาชาดไทย ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา กรณีรักษาตัวในห้องผู้ป่วยสามัญ หรือห้องผู้ป่วยรวมก็ให้ใช้สิทธิการรักษาพยาบาลเดิมของตัวเอง แต่หากนอนห้องพิเศษ หรือกรณีที่อยู่ห้องพิเศษ หรือผ่าตัด คลอดบุตร สามารถลดหย่อนค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 50 หากเป็นผู้บริจาคโลหิตเกิน 24 ครั้งเป็นต้นไป แล้วป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดสภากาชาดไทย จะได้รับการยกเว้นค่ารักษาพยาบาลกรณีรักษาตัวในห้องผู้ป่วยสามัญ แต่ถ้าอยู่ห้องพิเศษ หรือ ผ่าตัด ผ่าตัดคลอดบุตร จะเสียเพียง ร้อยละ 50 ของอัตราที่กำหนด แต่ไม่มีข้อกำหนดกรณีบริจาคโลหิต 18 ครั้งแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีบริจาคโลหิต 24 ครั้งขึ้นไป จะได้รับการยกเว้นค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยสามัญได้ทุกโรคหรือไม่ เช่น โรคมะเร็ง และการผ่าตัดในปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา เช่น ผ่าตัดส่องกล้อง การใช้หุ่นยนต์ ก็จะได้รับการลดหย่อนร้อยละ 50 ด้วยหรือไม่ พญ.อุบลวัณณ์ กล่าวว่า ในระเบียบไม่ได้กำหนดรายโรคเอาไว้ จึงคาดว่าน่าจะสามารถได้รับการยกเว้นเช่นกัน แต่ต้องดูที่การพิจารณาของทางโรงพยาบาลด้วย ส่วนการผ่าตัดก็ต้องยึดตามตัวอักษรก่อน แต่ก็อยู่ที่การพิจารณาของทางโรงพยาบาลด้วย

“เดิมระเบียบดังกล่าวออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีสิทธิการรักษาใด ๆ เลย เนื่องจากขณะนั้นคนไทยไม่มีสิทธิการรักษาพยาบาลกันเยอะ แต่ก็ช่วยมาบริจาคเลือดได้ ดังนั้น ตอนนี้จะเน้นที่สิทธิประโยชน์เดิมของคนไข้ก่อน ส่วนการอัปเดตระเบียบนั้น เนื่องจากศูนย์บริการโลหิตเป็นเพียงหน่วยหนึ่งเท่านั้น ระเบียบใหญ่ออกมาจากสภากาชาด ถ้าจะอัปเดตใหม่คงต้องใช้เวลา เบื้องต้นถ้าประชาชนจะใช้สิทธิก็อาจจะมาขอ หรือให้ญาตินำบัตรประจำตัวมาขอหนังสือรับรองการบริการบริจาคโลหิตที่ศูนย์บริการโลหิต หรือภาคบริการโลหิตที่โรงพยาบาลสาขา หรือโรงพยาบาลจังหวัดก็สามารถดูจำนวนครั้งได้เช่นกัน” พญ.อุบลวัณณ์ กล่าว

พญ.อุบลวัณณ์ กล่าวว่า สำหรับการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลสังกัด สธ. ตามระเบียบของ สธ. ว่าด้วยการช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล (ฉบับที่ 6 ) พ.ศ. 2558 ระบุเอาไว้ในข้อที่ 8 ประเภท ค. ให้หน่วยบริการช่วยเหลือเฉพาะค่าห้องพิเศษ และค่าอาหารพิเศษ โดยให้เรียกเก็บตามอัตราที่กำหนดไว้ แต่ต้องไม่เกินสิทธิอันพึงเบิกได้จากหน่วยงานต้นสังกัดก่อน ส่วนที่เกินให้เรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 โดยจัดสมาชิกผู้บริจาคโลหิตของสภากาชาดไทยเอาไว้ในผู้มีสิทธิตามประเภท ค. ซึ่งได้รับการช่วยเหลือเฉพาะตัว (1) และกำหนดให้ต้องมีหนังสือรับรองจากสภากาชาดไทยด้วย อย่างไรก็ตาม ประกาศของ สธ. ไม่ได้ระบุจำนวนครั้งของการรับบริจาคเลือดเอาไว้แต่อย่างใด

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น