xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงวัยรุ่นทำ-เสพ “ยาโปร” จัดกิจกรรมกระตุกต่อมคิด ก่อนใช้ยาผิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อย. ห่วงปัญหาวัยรุ่นทำ - เสพ “ยาโปร” จัดกิจกรรมกระตุกต่อมคิด ก่อนใช้ยาผิด เน้นกลุ่มนักเรียนม.ปลาย ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ยา

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ปัญหาการใช้ยาในทางที่ผิดทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนที่มีการนำ “ยาทรามาดอล” และ “ยาโปรโคดิล” ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคพื้นฐานของสังคมไทย ทั้งแก้ปวดและแก้แพ้มาใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ด้วยการผสมในเครื่องดื่ม เพื่อให้ออกฤทธิ์มึนเมา เคลิบเคลิ้ม โดยสาเหตุหลักที่เยาวชนนำยามาใช้ในทางที่ผิด คือ การติดเพื่อน ตามเพื่อน ต้องการการยอมรับในกลุ่ม ต้องการเข้ากลุ่ม ทำให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบ ประกอบกับกระแสค่านิยม และสังคมสื่อออนไลน์ ที่สามารถเข้าถึงและก่อให้เกิดการใช้ยาในทางที่ผิดได้ง่าย ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แล้วยังทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายของผู้ใช้ และต่อผู้อื่นในสังคม ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สิน อย. จึงดำเนินโครงการชั่งใจก่อนใช้ยา ภายใต้หัวข้อ “กระตุกต่อมคิด ก่อนใช้ยาผิด” ขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน รวมถึงครู อาจารย์ และผู้ปกครองได้รับความรู้ที่ถูกต้อง และตระหนักถึงพิษภัยผลเสียทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม อีกทั้งเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดี และลดปัญหาความเจ็บป่วยอันเกิดจากการใช้ยาในทางที่ผิด

ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ จะรณรงค์ไปยังกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 100 - 300 คน โดยเริ่มจัดขึ้นครั้งแรกที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงเสนี) ในวันที่ 9 ก.พ. 2559 ซึ่งภายในงานจะมีกิจกรรมเสวนาในประเด็นร่วมกันหยุดยั้งยาโปรในกลุ่มวัยรุ่น โดย นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล และ ภญ.ชนกวนันท์ รักชีพ การแสดงธรรมะดีลิเวอรีให้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันจากพระมหาสมปอง และการแสดงมินิคอนเสิร์ตต้านภัยยาโปร ส่วนวันที่ 10 ก.พ. 2559 จัดที่โรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชลาดกระบัง

“นอกจากการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม ควรร่วมมือกันในการป้องกันและแก้ปัญหา โดยเริ่มต้นจากสถาบันครอบครัวที่ควรสร้างความอบอุ่น รับฟังปัญหาของเด็ก พร้อมให้คำแนะนำที่ถูกต้อง รวมถึงสถาบันการศึกษาที่จำเป็นต้องให้ความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมที่เหมาะสม หากิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้เด็ก ๆ ทำยามว่าง แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ จิตใจเยาวชนต้องมีความมั่นใจและมุ่งมั่นที่จะไม่ยุ่งกับการใช้ยาในทางที่ผิด” รองเลขาธิการ อย. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น