xs
xsm
sm
md
lg

รพ.ภูมิพลจับตาผู้ป่วยซิการายที่ 2 ถึง 12 ก.พ. หากไม่พบถือว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รพ.ภูมิพล จับตาผู้ป่วยซิการายที่ 2 ถึง 12 ก.พ. หากไม่พบถือเป็นพื้นที่ปลอดภัย ระบุ ขณะนี้ยังไม่พบสัญญาณ คัดกรองเข้มไข้เฉียบพลัน ตาแดง ออกผื่น

วันนี้ (5 ก.พ.) พล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค ผอ.รพ.ภูมิพล กล่าวว่า หลังพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิการายแรก โรงพยาบาลได้ให้การรักษาตามอาการ โดยแยกการดูแลออกจากผู้ป่วยรายอื่น ๆ พร้อมทั้งดูแลไม่ให้มียุงลาย เบื้องต้นจนถึงขณะนี้ยังไม่พบสัญญาณว่าจะมีผู้ป่วยรายที่ 2 อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลได้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังโรคด้วยการกำจัดยุงลาย และลูกน้ำยุงลายทั้งในและนอกอาคาร พร้อมทั้งมอบหมายให้ฝ่ายสูตินริเวชของโรงพยาบาลภูมิพล มีมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังในกลุ่มสตรีตั้งครรภ์ด้วย เพราะเป็นที่ทราบดีว่าโรคติดเชื้อไวรัสซิกา จะทำให้ทารกในครรภ์มีปัญหาศีรษะเล็ก

น.อ.หญิง พันธิภา วิวัฒนขจรสุข รอง ผอ.กองเวชศาสตร์ป้องกัน กล่าวว่า หลังจากมีผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิการายแรกแล้ว จะต้องเฝ้าระวังการพบผู้ป่วยรายที่ 2 โดยคำนวณจากการที่ผู้ป่วยรายแรกที่เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลระหว่างวันที่ 24 - 27 ม.ค. ขณะที่วงรอบชีวิตของยุงจะอยู่ที่ประมาณ 2 - 10 วัน ส่วนไวรัสจะฟักตัวในร่างกายคนประมาณ 2 - 4 วัน ดังนั้น จะต้องมีการคิดตามเฝ้าระวังการพบผู้ป่วยรายต่อไปจนถึงวันที่ 12 ก.พ. นี้ หากไม่พบผู้ป่วยรายใหม่จะถือว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย

น.อ.ธนาสนธิ์ ธรรมกุล หัวหน้าหน่วยควบคุมโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลภูมิพล กล่าวว่า รพ.ภูมิพล มีมาตรการคัดกรองผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่มีไข้เฉียบพลันใน 2 วัน ร่วมกับมีอาการตาแดง ออกผื่น ต้องเร่งตรวจวินิจฉัยหากสามารถระบุตัวโรคได้ เช่น หัดเยอรมันก็ให้การรักษาตามมาตรฐาน แต่หากไม่ทราบสาเหตุจะต้องเร่งแจ้งมายังกองควบคุมโรคติดเชื้อ เพื่อประสานต่อไปยังกรมควบคุมโรค เพื่อดำเนินการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป โดยระหว่างนี้ต้องนำผู้ป่วยแยกออกจากผู้ป่วยรายอื่น เก็บตัวอย่างเลือดและปัสสาวะส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ด้วย พร้อมกันนี้ จะต้องบันทึกข้อมูลโรคตามแบบฟอร์มของโรงพยาบาลเพื่อง่ายต่อการวิเคราะห์ข้อมูล บันทึกที่อยู่เพื่อให้ง่ายในการติดตามตัว ทั้งนี้ หากพบผู้ป่วยเป็นหญิงตั้งครรภ์จะส่งต่อให้แผนกสูติฯ ดูแลต่อทันที

“ก่อนนำผู้ป่วยเข้าไปในห้องแยกโรคจะต้องกำจัดยุงลายก่อน หลังจากผู้ป่วยหาย และออกจากห้องแยกโรตแล้วจะต้องมีการกำจัดยุงลายในห้องนั้นซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มียุงลายที่อาจได้รับเชื้อเพิ่มแล้วไปแพร่โรคสู่คนอื่น ๆ ต่อ” น.อ.ธนาสนธิ์ กล่าว และว่า จากนี้จะมีการอบรมให้ความรู้เรื่องโรคดังกล่าวแก่บุคลากรของโรงพยาบาล พร้อมทั้งค้นหาเจ้าหน้าที่หญิงที่ตั้งครรภ์เพื่อให้ได้รับการดูแลต่อไป

ด้าน น.อ.ชวลิต ดังโกสินทร์ ประธานคณะกรรมการบริหารสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย โรงพยาบาลภูมิพล กล่าวว่า สำหรับการกำจัดยุงลายและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายระยะสั้นได้นำน้ำยาล้างจาน 1 ช้อนชา ผสมน้ำสะอาด 1 ลิตร ฉีดฆ่ายุงลายตัวแก่ในอาคารโรงพยาบาล เพราะไม่เป็นอันตรายต่อผู้อยู่ในอาคาร ส่วนนอกอาคารได้มีการพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย พร้อมทั้งสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายด้วย ส่วนระยะยาวจะมีการดำเนินการสำรวจ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ และพ่นสารเคมีฆ่ายุงลายอย่างสม่ำเสมอ













ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น