xs
xsm
sm
md
lg

“เก่ง-ดี-งาม” แนวทางพัฒนา นร.ย้ำครูต้องเป็นต้นแบบ ชู ร.ร.มัธยมป่ากลางต้นแบบแก้ปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผอ.ร.ร.มัธยมป่ากลาง
สมศ. ชี้ “เก่ง ดี งาม” คุณลักษณะสำคัญ “นักเรียน - นักศึกษา” ย้ำ “ครู” ต้นแบบสำคัญ ชูโรงเรียนมัธยมป่ากลางใช้วิชาลูกเสือ การสวนสนาม วงโยธวาทิตสร้างวินัยนักเรียน แก้ปัญหานักเรียนต่างเผ่าทะเลาะวิวาท ติดยาเสพติด

วันนี้ (5 ก.พ.) ที่โรงเรียนมัธยมป่ากลาง อ.ปัว จ.น่าน ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า การพัฒนานักเรียน รักศึกษาให้มีคุณภาพนั้น อยู่ที่การกำหนดคุณลักษณะของเยาวชนว่าอยากให้เป็นเช่นไร ซึ่งแต่ละยุคสมัยก็ต่างกัน อย่างอดีตที่ผ่านมาจะรู้จักกันดีในหน้าที่ 10 ประการ ส่วนปัจจุบันรัฐบาลกำหนดในเรื่องของค่านิยม 12 ประการ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะกำหนดคุณลักษณะเช่นไรก็ตาม แต่จะประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ “เก่ง ดี งาม” โดย “เก่ง” คือ เก่งทั้งด้านวิชาการ หรือการเรียน ด้านสังคม และด้านทักษะการใช้ชีวิต สามารถเอาตัวรอดได้ “ดี” คือ การที่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่า มีคุณธรรมจริยธรรม และ “งาม” คือ การมีบุคลิกภาพ เช่น ยิ้มแย้มแจ่มใส มีน้ำใจไมตรี มีมารยาท กาลเทศะ อ่อนน้อมถ่อมตน เป็นต้น

“การที่นักเรียนนักศึกษาจะมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์เช่นนี้ได้ สิ่งสำคัญคือ ครูผู้สอน ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดการส่งเสริมมาตรฐานการศึกษาของ สมศ. คือ คุณภาพศิษย์สะท้อนคุณภาพครู ถือเป็นความท้าทายความสามารถของครูในการที่จะทำให้เด็กมีคุณภาพ ท่ามกลางปัญหาสังคมที่มีมากขึ้นได้อย่างไร โดยครูจะต้องมีความรู้ความสามารถทางวิชาการและวิชาชีพ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน เป็นต้นแบบ สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียนในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและสร้างประโยชน์ให้กับสังคม” ผอ.สมศ. กล่าวและว่า โรงเรียนมัธยมป่ากลาง ถือเป็นโรงเรียนต้นแบบในเรื่องของคุณภาพศิษย์สะท้อนคุณภาพครู โดยเฉพาะการที่ครูอุทิศตนและเป็นแบบอย่างในการสร้างนักเรียนที่มีคุณภาพ

นายนิคม พลทิพย์ ผอ ร.ร.มัธยมป่ากลาง กล่าวว่า โรงเรียนมัธยมป่ากลางเป็นสถานศึกษาขนาดกลาง มีรักเรียนประมาณ 500 กว่าคน บุคลากร 36 คน โดยยุคลากรและนักเรียนในสถานศึกษาจะมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ประกอบด้วยม้ง ลั๊วะ เมี่ยน ไทลื้อ และพื้นเมือง ซึ่งจะมีภาษา เอกลักษณ์ และวัฒนธรรมที่เป็นของตนเอง ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายในการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาผู้เรียนให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งโรงเรียนได้ใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษเป็นภาษาพื้นฐานในการสื่อสาร โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เช่น ส่งเสริมให้ผูเรียนฝึกสนทนาเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้เกิดความเคยชิน จนสามารถคว้ารางวัลระดับเขตได้จำนวนมาก รวมถึงส่งเสริมให้บุคลากรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้เรียน

นายจิรายุ จันทร์เพ็ง อาจารย์โรงเรียนมัธยมป่ากลาง และครูดีเด่นระดับประเทศปี 2556 กล่าวว่า ที่ผ่านมา โรงเรียนมัธยมป่ากลางประสบปัญหาเรื่องนักเรียนโดดเรียน ทะเลาะวิวาทระหว่างชนเผ่า และยาเสพติดระบาด จึงแก้ปัญหาด้วยการฝึกวินัยให้กับเด็กที่มีปัญหาเหล่านี้ ผ่านกิจกรรมลูกเสือและวงโยทวาธิต มีการฝึกเดินสวนสนาม สร้างความเป็นหนึ่งเดียว การเป็นผู้นำ ผู้ตาม และความมีระเบียบวินัย นอกจากนี้ ยังสอนในเรื่องที่ควรทำไม่ควรทำ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ตนก็เป็นแบบอย่างแก่นักเรียนว่าไม่ทำ เพราะแม้ตนจะเป็นครูเอกดนตรี ซึ่งในแวดวงนี้ปฏิเสธได้ยากว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าตนเป็นคนหนึ่งที่ไม่ข้องเกี่ยว เด็กก็เกิดความศรัทธา ซึ่งหลังจากการฝึกนักเรียนที่มีปัญหาก็พบว่าเด็กมีระเบียบวินัยมากขึ้น แต่งตัวเรียบร้อย ปัญหาต่าง ๆ หมดไป เด็กที่ไปแข่งวงโยทวาธิตก็ได้รับการยอมรับทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น