xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายการจัดการโรคมะเร็งที่ควรเป็น มีสิ่งหนึ่งที่หนึ่งที่ต้องไม่ละเลย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

โรคมะเร็งคร่าชีวิตคนไทยสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งมามากกว่า 10 ปี สาเหตุที่สำคัญคือสารเคมีก่อมะเร็ง การเข้าถึงการรักษาฟรีช่วยป้องกันครอบครัวคนไทยไม่ให้ล้มละลายได้ แต่อาจจะไม่ช่วยยืดอายุ จำเป็นต้องมีนโยบายที่เข้มแข็งดูแลทั้งการป้องกัน การรักษาที่ได้ผลและพึ่งตนเองได้ ต้องทำงานวิชาการสรุปบทเรียนจากทั่วโลกและลงทุนด้านการวิจัยเรื่องนี้อย่างเพียงพอ

คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งแซงหน้าโรคเอดส์และโรคหัวใจ มามากกว่า 10 ปีแล้ว สร้างความทุกข์ ทรมาน เจ็บปวด และสูญเสียทางเศรษฐกิจแก่ครอบครัวและประเทศชาติมากมายมหาศาล
สถิติของกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2557 ปีเดียว พบว่า โรคมะเร็งคร่าชีวิตคนไทยไปถึง 70,200 คน หรือคิดเป็นอัตรา 108 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2553 ซึ่งพบอัตราเพียง 91 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 18.6 (สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์สาธารณสุข, 2558)
คนไทยทุกอาชีพมีโอกาสป่วยเป็นโรคมะเร็ง รวมทั้งผู้ที่มีอาชีพแพทย์ ศัลยแพทย์ฝีมือท่านหนึ่งที่ผมรู้จัก อายุเพียง 45 ปี ก็เพิ่งเสียชีวิตไปจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โอกาสที่ท่านจะทำประโยชน์ให้แก่คนไข้และประเทศชาติ ต้องสูญเสียไปอย่างน่าเสียดาย

อะไรคือสาเหตุของโรคมะเร็ง

ศูนย์ศึกษาด้านโรคมะเร็งขององค์การอนามัยโลก ซึ่งทำหน้าที่ระบุและจัดกลุ่มของปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็ง จะจัดให้ปัจจัยนั้นเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งแน่นอน เป็นกลุ่มที่ 1 ถ้ามีข้อมูลหลักฐานจากการศึกษาวิจัยอย่างเพียงพอ พบว่า ปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็ง ที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 1 ณ วันที่ 7 เมษายน 2558 มีจำนวนถึง 114 ชนิด (http://bit.ly/1KVXYEQ)

จะสังเกตเห็นว่า รายการส่วนใหญ่ที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 1 คือ สารเคมี ! ทั้งสารเคมีที่ใช้มากในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบ คือ สารเคมีที่มีจำหน่ายในโลกเรานี้มีมากกว่า 80,000 ชนิด แต่มีการศึกษาวิจัยอย่างครบถ้วนรอบด้าน ไปเพียง ร้อยละ 2 ของสารเคมีทั้งหมดที่มีจำหน่ายเท่านั้น

ดังนั้น สารเคมีจำนวนมากที่องค์การอนามัยโลก ยังไม่จัดกลุ่มว่า เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง แต่จริงๆแล้ว มีโอกาสเป็นสารก่อมะเร็ง จึงยังคงมีอยู่อีกจำนวนมาก

นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยต่าง ๆ มักจะมีข้อจำกัด เรื่องงบประมาณ ใช้ระยะเวลายาวนาน และต้องศึกษาสารเคมีที่ละตัวเท่านั้น ซึ่งผลการวิจัยที่ได้ก็อาจจะไม่ได้บอกว่า ถ้าสัตว์ทดลองหรือคนได้รับสารเคมี กลุ่มที่ 2 พร้อมๆ กันหลายตัวผลจะเป็นอย่างไร

เราจะพบว่า กว่าที่จะองค์การอนามัยโลกจะรายงานผลการจัดกลุ่มสารก่อมะเร็ง ประชาชนก็ได้รับสารเคมีนั้นไปมากแล้ว บางคนเกิดโรคแล้ว รายงานดังกล่าวจึงถือว่าออกมาล่าช้าเกินไป

ทางออกที่ควรเป็น คือ ต้องใช้หลักการป้องกันไว้ก่อน

คนที่มีโอกาสรับสารเคมีอย่างมาก คือ คนงานในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรและผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ นี้เอง เราต้องหันมาหาวิธีที่จะทำให้ได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายให้น้อยที่สุด ระมัดระวังในเรื่องการรับประทานอาหาร เลือกซื้อสินค้าที่ไร้สาร กินผักผลไม้ที่ทำโดยวิธีเกษตรอินทรีย์ หาวิธีขับพิษออกจากร่างกาย เช่น การออกกำลังกาย การอบเซานา ให้สารพิษถูกขับออกมาทางเหงื่อ ฯลฯ

คนไข้โรคมะเร็งจำนวนมากในต่างประเทศ หันมาปลูกผักอินทรีย์รับประทานเอง เพราะไม่ไว้ใจผักผลไม้ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ทำให้สารพิษในร่างกายลดลง เป็นผลดีต่อการรักษา มีชีวิตยืนยาวขึ้น (http://bit.ly/1OJbelA)

แต่ทางออกที่ดีกว่า คือ ประเทศไทยต้องมีนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อการสร้างสังคมไร้สาร เช่น รัฐบาลประกาศให้เกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ งบประมาณภาครัฐต้องไม่ไปอุดหนุนธุรกิจที่ส่งเสริมการใช้สารเคมี ต้องลงทุนศึกษาวิจัยทางเลือกต่าง ๆ ที่ไร้สารอย่างยั่งยืน หันเข้าหาวิธีการที่เลียนแบบธรรมชาติ ฯลฯ

เช่น โรงพยาบาลขอนแก่น ประกาศว่า อาหารที่ผลิตให้ผู้ป่วยวันละ 3,000 ถาด วัตถุดิบที่ใช้ต้องปลอดสารเคมี เพียงแค่นี้ก็สร้างตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นได้อย่างมากมาย

เป็นสิ่งที่หน่วยราชการทุกแห่งควรเอาอย่าง จะสร้างบุญกุศลให้กับคนไทยได้ในวงกว้าง ส่งผลดีถึงลูกหลาน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น