xs
xsm
sm
md
lg

“สกศ.-เอกชน” พัฒนาการศึกษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สกศ. เตรียมพลิกวิกฤตแรงกิ้งการศึกษาไทย จับมือเอกชนพัฒนาสมรรถนะการศึกษาทั้งระบบ

นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยระหว่างการประชุมสภาการศึกษาเสวนา (OEC Forum) เรื่อง “ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาในเวทีเศรษฐกิจโลก พ.ศ. 2558 - 2559 (WEF 2015 - 2016)” เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนาให้ความรู้เชิงลึกในประเด็นขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาในเวทีเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นกระบวนการในการชี้วัดคุณภาพด้านการศึกษาของประเทศไทยในสายตานานาชาติ และรัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต โดยทาง สกศ. จะได้นำแนวทางการวิเคราะห์ และข้อมูลสำคัญด้านต่าง ๆ จากคณะทำงานของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาปรับใช้ในการจัดระบบการศึกษาเชิงนโยบาย และใช้เป็นข้อมูลสำคัญเพื่อจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ ระยะ 15 ปี (ปี 2560 - 2574) และใช้ดัชนีชี้วัดของประเทศไทยที่อยู่อันดับ 32 ในปี 2558 - 2559 และอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย รั้งอันดับที่ 6 ในประเทศอาเซียน +3 (จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาระบบการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น เพราะประเทศไทยมีจุดแข็ง จุดเด่นทั้งในเรื่องวัฒนธรรมที่ดีงาม ผู้คนมีน้ำใจ มีมารยาท รู้จักกาลเทศะ เป็นแรงดึงดูดให้เกิดการลงทุน และเกิดความร่วมมือกับนานาชาติ อย่างรอบด้าน ภายใต้การยกระดับการศึกษาเป็นกลไกขับเคลื่อนต่อไป

เลขาธิการ สกศ. กล่าวว่า ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาไม่ว่าจะเป็น กระทรวงศึกษาธิการ รวมถึง สกศ. ที่เป็นหน่วยงานนโยบายการศึกษาของชาติ ควรสื่อสารงานพัฒนาการศึกษา และผลงานที่เป็นรูปธรรมเผยแพร่สู่สาธารณะ สร้างให้เกิดการรับรู้ และแนวทาง การพัฒนาการจัดการศึกษาที่ตรงกัน และเกิดการยอมรับจากสังคม เนื่องจากทั้งเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (ดับบลิวอีเอฟ) และสถาบันการจัดการนานาชาติ (ไอเอ็มดี) ใช้ข้อมูลทั้งจากการสัมภาษณ์ และข้อมูลจากองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อบ่งชี้จุดอ่อนของการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทย รวมทั้งเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขันของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูง เช่น กลุ่มประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยนวัตกรรม จึงต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รัฐบาล เอกชน และภาคประชาสังคมต่าง ๆ

“สกศ. จะได้ประสานความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อหารือแนวทางช่วยปรับระบบการศึกษาอย่างเป็นเอกภาพทั้งระบบและสอดคล้องกับความต้องการแรงงานที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศต่อไป” นายกมล กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น