xs
xsm
sm
md
lg

จวกระบบการศึกษาทำให้เด็กเมินศิลปะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศิลปินแห่งชาติ จวกระบบการศึกษาไม่เอื้อวงการศิลป์ ชี้ให้ครูพละ - ดนตรี สอนศิลปะ ชั่วโมงเรียนน้อย วอน ศธ. ทบทวน


นายกมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ กล่าวว่า ปัจจุบันการพัฒนาวงการศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยของประเทศไทยกำลังก้าวหน้า และอีกไม่นานจะมีหอศิลป์ร่วมสมัยระดับนานาชาติ ดังนั้น รัฐบาลควรส่งเสริมศิลปินรุ่นใหม่ ตั้งแต่ระดับอุดมศึกษาให้มีคุณภาพ มีการรวมกลุ่มพัฒนาผลงาน ตลอดจนสร้างเครือข่ายให้กับบุคลากรวงการศิลปะไทยและต่างประเทศให้มากขึ้น ส่วนตนมองว่า การที่สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม สร้างเมล็ดพันธุ์คนรุ่นใหม่ จากโครงการ ค่ายเยาวชนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย มา 7 รุ่นแล้ว มีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการกว่า 500 คน ถือเป็นเรื่องที่ดี และเยาวชนควรนำความรู้ และประสบการณ์ ไปพัฒนาผลงานศิลปะของตนเอง นำไปสู่การพัฒนาชุมชน ด้วยการสร้างบทบาทของการเป็นศิลปิน เป็นครู เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียน นักศึกษา ในสถานศึกษาทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

นายกมล แสดงความคิดเห็นว่า ส่วนตนมองว่าจุดอ่อนของการสร้างบุคลากรวงการศิลปะไทย คือ ระบบการศึกษาไทย ไม่ให้ความสำคัญทั้งการเรียนและการสอนวิชาศิลปะ เมื่อเปรียบเทียบจากการให้คะแนนและชั่วโมงเรียนวิชาสามัญ ทำให้เด็กไม่ได้สนใจเรียนรู้ศิลปะ กระทรวงศึกษาธิการ ควรจะทบทวน ให้มีชั่วโมงการเรียนการสอนวิชาศิลปะมากขึ้น เปิดรับครู อาจารย์ที่สอนวิชาศิลปะ ที่จบสายตรง ไม่ใช่ให้ครูที่จบสาขาอื่นมาสอนเด็ก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด พบมากว่า รับครูศิลปะไม่ตรงสาขาเลย เอาครูที่จบพละ หรือ จบดนตรี มาสอนก็มี หากแก้ปัญหาได้ตรงจุด นักเรียน นักศึกษา ก็จะมีการพื้นฐาน มีการพัฒนาความรู้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้เด็กมีความสนใจศิลปะติดตัวไปใช้ในการพัฒนาชุมชนได้

“ฝากไปยังผู้บริหารศธ.พิจารณาเรื่องนี้ด้วย ถ้าเราสร้างองค์ความรู้ด้านศิลปะสู่เด็กตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา พาไปศึกษาพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ ความสนใจต่าง ๆ ในงานศิลปะ จะติดตัวไปสู่ระดับอุดมศึกษา แต่หากยังไม่เห็นความสำคัญ การพัฒนาคนและผลงานก็คงจะเดินต่อไปได้ยาก” นายกมลกล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น