xs
xsm
sm
md
lg

ดันหลักสูตร "ความปลอดภัยผู้ป่วย" สอน "หมอ-พยาบาล-วิชาชีพสุขภาพ" เชื่อลดฟ้องร้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สรพ.แปลหลักสูตรความปลอดภัยของผู้ป่วยจาก WHO ส่งมอบสถาบันศึกษาด้านสาธารณสุข 133 แห่ง หวังผลิตวิชาชีพสุขภาพเน้นความปลอดภัยผู้ป่วยเป็นหลัก เชื่อลดปัญหาฟ้องร้อง เล็งสร้าง รพ.ต้นแบบ เปิดช่องทางสื่อสาร "ผู้ป่วย-ญาติ" เข้าใจ รพ. พัฒนาระบบสาธารณสุขร่วมกัน

วันนี้ (6 ม.ค.) นพ.ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมขับเคลื่อน WHO Patient Safety Curriculum และมอบคู่มือหลักสูตรคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย ให้กับสถาบันการศึกษาและองค์กรวิชาชีพจำนวน 133 แห่ง ว่า ปัจจุบันเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์จากการรักษาผู้ป่วย มักส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ จนเกิดการฟ้องร้อง ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยจัดทำหลักสูตร Patient Safety Curriculum หรือหลักสูตรเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยขึ้น

นพ.ธวัช กล่าวว่า สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ได้นำหลักสูตรดังกล่าวมาแปลเป็นภาษาไทย และมอบให้กับสถาบันการศึกษาที่ผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุข 133 แห่ง ครอบคลุมทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ เทคนิคการแพทย์ เป็นต้น นำมาใช้บูรณาการในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้เมื่อเวลาออกปฏิบัติงานจริงจะตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นอันดับแรกในทุกกระบวนการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ จะยังนำมาใช้อบรมวิชาชีพด้านสาธารณสุขต่างๆ ที่ให้บริการในปัจจุบันด้วย

นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือบอร์ด สรพ. กล่าวว่า เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นจากการรักษาผู้ป่วย ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของผู้ให้บริการเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาให้ลึกด้วยว่าเกิดจากระบบบริการสาธารณสุขด้วยหรือไม่ ซึ่งการรักษาผู้ป่วยทุกวันนี้ต้องยอมรับว่ามีขั้นตอนมาก มีผู้เกี่ยวข้องเยอะ และมีความซับซ้อน ขณะที่ผู้ป่วยก็มีความคาดหวังในการรักษาสูงมาก จนนำมาสู่ความขัดแย้ง ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะเน้นให้เข้าใจถึงภาพรวมความปลอดภัยของผู้ป่วยในระบบ ไม่ใช่มาชี้ว่าเหตุที่เกิดขึ้นนั้นใครผิด ใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ให้มองไกลว่าระบบสาธารณสุขใครจะช่วยปรับปรุงได้ และจะทำอย่างไรได้บ้าง ซึ่งยอมรับว่าประเทศไทยระบบสาธารณสุขยังคงมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นระบบของโรงพยาบาล ระบบของประเทศ ซึ่งเหมือนกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่ต้องมาช่วยกันพัฒนาให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ

"สิ่งที่จะดำเนินการต่อจากนี้คือจะสร้างโรงพยาบาลต้นแบบที่เน้นเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลที่สมัครเข้ามาแล้วกว่า 100 แห่ง และจะเปิดช่องให้ทำความเข้าใจกับผู้ป่วย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และเข้าใจกันมากขึ้น ว่าโรงพยาบาลนั้นเป็นโรงพยาบาลของผู้ป่วยของชุมชน และคนไข้เข้าใจว่าโรงพยาบาลจะเป็นที่ฝากไข้ได้ ซึ่งทางโรงพยาบาลก็ต้องเปิดข้อมูลต่างๆ ให้ชุมชนทราบว่ามีบุคลากรเท่านี้ ทรัพยากรเท่านี้ มีศักยภาพเท่านี้ หากจะพัฒนาให้ดีขึ้นจะมาช่วยกันอย่างไร โดยจะมีการสร้างช่องทางพูดคุยทำความเข้าใจระหว่างผู้ให้บริการ ผู้ป่วยและญาติ หากพบเห็นอะไรที่ควรปรับปรุงก็สามารถแจ้งเข้ามาเพื่อให้เกิดการพัฒนาได้ โดยไม่ต้องรอให้เกิดเหตุที่ไม่พึงประสงค์ก่อน ซึ่งเชื่อว่าเมื่อทุกฝ่ายมีความเข้าใจกันจะช่วยลดการฟ้องร้องลงไปได้" นพ.ศุภชัย กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น