xs
xsm
sm
md
lg

คลอดแนวทางตรวจสุขภาพ 3 กลุ่มอายุ ลดตรวจพร่ำเพรื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คลอดแนวทางตรวจสุขภาพตามมติสัมชชาสุขภาพฯ แบ่งเป็น 3 กลุ่มอายุ “เด็กและวัยรุ่น-วัยทำงาน-ผู้สูงอายุ” ช่วยไม่ต้องเสียเงินตรวจสุขภาพน้อยหรือมากเกินจำเป็น พร้อมดันเข้าสิทธิประโยชน์ 3 กองทุน

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน กล่าวว่า คณะกรรมการฯได้จัดทำแนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน ซึ่งเป็นไปตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 เรื่อง “นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน” เสร็จเรียบร้อยแล้ว จากนี้จะจัดทำเป็นคู่มือเพื่อสื่อสารไปยังประชาชน รวมถึงนำไปดำเนินการ เริ่มจากโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข และพิจารณาเพื่อการวางระบบการตรวจสุขภาพสำหรับทั้ง 3 กองทุนสุขภาพหลัก ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ต่อไป

นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ประธานคณะทำงานติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน กล่าวว่า แนวทางการตรวจสุขภาพฯ จะเป็นประโยชน์ในการตรวจสุขภาพของประชาชน จะได้ไม่ตรวจน้อยกว่าหรือมากกว่าที่จำเป็น โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มอายุ คือ 1. กลุ่มวัยเด็กและวัยรุ่น โดยในกลุ่มวัยรุ่น 11-21 ปี ตรวจร่างกายตามระบบ เช่น ดูรอยสิว รอยสัก รอยเจาะ ดูการโค้งงอของสันหลัง ตรวจหน้าอกดูการเปลี่ยนแปลงของเต้านมทั้งหญิงชาย ตรวจอวัยวะเพศ หญิง ดูลักษณะขนหัวหน่าว อาการบ่งชี้ว่าติดเชื้อ ตรวจภายในกรณีมีตกขาวหรือเลือดออกผิดปกติ และชาย ดูขนาดของอัณฑะและขนหัวหน่าว อาการบ่งชี้ว่าติดเชื้อ ภาวะไส้เลื่อน ถุงน้ำก้อนและเส้นเลือดขอด เป็นต้น

2. กลุ่มวัยทำงาน อายุ 18-60 ปี ต้องมีการซักประวัติซึ่งควรทำ 1 ครั้งต่อปี คือ ประวัติสุขภาพทั่วไป ประเมินความเสี่ยง/สัมผัสความเสี่ยงในการประกอบอาชีพ พฤติกรรมสุขภาพทั้งอาหารและออกกำลังกาย สารเสพติด/บุหรี่/สุรา พฤติกรรรมทางเพศ/การป้องกัน/การคุมกำเนิด การตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือนอย่างถูกต้อง การได้รับวัคซีนคอตีบและบาดทะยัก การประเมินวัยทำงาน ด้วยการประเมินภาวะซึมเศร้า ผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไปตรวจทุก 1 ปี และประเมินความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ 1 ครั้งต่อปี การตรวจร่างกายที่ต้องดำเนินการ 1 ครั้งต่อปี ประกอบด้วย ชั่งน้ำหนัก/วัดส่วนสูงเพื่อคำนวณดัชนีมวลกาย วัดรอบเอว วัดความดันโลหิตคัดกรองภาวะความดันโลหิตสูง ไต โรคหลอดเลือดหัวใจ ตรวจร่างกายตามระบบ ตรวจการได้ยิน ตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน ส่วนประเมินความเสี่ยงด้านความผิดปกติเต้านม อายุ 30-39 ปีตรวจทุก 3 ปี อายุ 40 ปีขึ้นไปตรวจทุกปี และตรวจตา อายุ 40-60 ปีตรวจ 1 ครั้ง สำหรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ คัดกรองภาวะโลหิตจาง อายุ 18-60 ปีตรวจ 1 ครั้ง คัดกรองเบาหวาน อายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 3 ปี ตรวจระดับไขมันในเลือก อายุ 20 ปีขึ้นไปตรวจทุก 5 ปี ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก อายุ 30 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 3 ปีและคัดกรองมะเร็งละไส้ใหญ่และลำไส้ตรง อายุ 50 ปีขึ้นไปตรวจทุก 1 ปี

และ 3. กลุ่มวัยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ต้องซักประวัติเกี่ยวกับสุขภาพทั่วไป การมองเห็น การได้ยิน การหกล้ม และการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ 1 ครั้งต่อปี ประเมินผู้สูงอายุ ที่ต้องดำเนินการ 1 ครั้งต่อปี คือ ประเมินทุพโภชนาการ ประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ประเมินความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน ประเมินภาวะซึมเศร้า ประเมินการทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน และประเมินภาวะสมองเสื่อม อายุ 65 ปีขึ้นไปตรวจ 1 ครั้งต่อปี การตรวจร่างกาย ชั่งน้ำหนัก/วัดส่วนสูง วัดรอบเอววัดความดันโลหิต คลำชีพจร ตรวจการได้ยิน ตรวจสายตาคัดกรองด้านการมองเห็นและตรวจช่องปากควรตรวจ 1 ครั้งต่อปี ขณะที่ความยาวแขน อายุ 65 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้งต่อปีและตรวจตาคัดกรองความผิดปกติของตาโดยรวม เช่น ต้อหิน ช่วงอายุ 60-64 ปี ตรวจทุก2-4 ปี อายุ 65 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 1-2 ปี และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตรวจคัดกรองความผิดปกติโดยรวมของระบบทางเดินปัสสาวะ คัดกรองเบาหวาน ประเมินการทำงานของไต คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ตรวจ 1 ครั้งต่อปี คัดกรองภาวะซีด อายุ 70 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้งต่อปี ตรวจระดับไขมันในเลือด อายุ 60-75 ปีตรวจทุก 5 ปี คัดกรองมะเร็งเต้านม อายุ 60-69 ปี ตรวจ 1 ครั้งต่อปี คัดกรองมะเร็งปาดมดลูก อายุ 60-65 ปี ตรวจทุก 3 ปี

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น