xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาที่คนไทยต้อง "ฟัง" มากกว่า "พูด" แนวคิดแก้ปัญหาจาก Museam Siam

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ล้วนมาจากการสื่อสารแล้วเข้าใจไม่ตรงกัน ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ทุกวันนี้คนเรา "พูด" มากกว่า "ฟัง" เมื่อต่างคนต่างจะพูด โดยไม่สนใจรับฟังในสิ่งที่อีกคนหรืออีกฝ่ายต้องการสื่อสาร ปัญหาความเข้าใจกันจึงบังเกิด

นางซองทิพย์ เสริมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการฝ่ายมิวเซียมสยาม สะท้อนมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า การสื่อสารในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า เด็กยุคนี้มักจะทำอะไรด้วยความรวดเร็ว นั่นเป็นเพราะผ่านกระบวนการในการคิดที่น้อยไป ความเข้าใจกันระหว่างบุคคลหรือหมู่ก็น้อยลง ปัญหาการไม่ถูกใจกัน ทะเลาะเบาะแว้งกันจึงเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ซึ่งความไม่เข้าใจกันตรงนี้ หากเป็นระดับองค์กร การบริหารงานก็จะไม่ตรงกัน อย่างระดับชาติก็จะเห็นว่ามีการแบ่งฝักฝ่าย เป็นฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ โดยมองว่าการสื่อสารที่เข้าใจไม่ตรงกัน จุดเริ่มต้นนั้นมาจาก "การฟัง"

"ทุกวันนี้คนเรา "พูด" มากกว่า "ฟัง" หากเราลองปิดปาก เปิดใจ เปิดหู รับรู้ข้อมูลอย่างมีสติ คิดพิจารณาอย่างรอบคอบ แล้วค่อยลองเปิดปาก หากทำได้ครบองค์ประกอบเช่นนี้ ปัญหาความไม่เข้าใจกันต่างๆ ก็จะลดน้อยลงไป ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับยุคปัจจุบัน"

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ เมื่อฟังแล้วจะต้องแปลสารจากผู้พูดอย่างถูกต้องด้วย นางซองทิพย์ ระบุว่า ฟังแล้วต้องรู้สึกให้ได้ว่าผู้พูดรู้สึกอย่างไร โดยสังเกตจากน้ำเสียง ลักษณะท่าทาง เมื่อเรารู้สึกถึงในคำพูดเราก็จะแปลความหมายได้อย่างถูกต้องว่าผู้พูดรู้สึกเช่นไร เช่น เศร้า เสียใจ ดีใจ เป็นต้น การจะทำเช่นนี้ได้สำคัญคือ 1.ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และ 2.ฟังแล้วไม่ตัดสินใจไปเองว่าสิ่งที่ผู้พูดนั้นแปลว่าอย่างนั้นอย่างนี้

"มิวเซียมสยามเห็นความสำคัญในเรื่องของการฟัง จึงเป็นที่มาของการจัดงาน ไนท์ แอท เดอะ มิวเซียม ครั้งที่ 6 ตอน I Hear ได้ยินไหม? ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 ธ.ค. ถือเป็นเทศกาลใหญ่ประจำปีของมิวเซียมสยามที่จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งเรามุ่งเน้นนำเสนอกิจกรรมสนุกสนานปนสาระสร้างสรรค์ ซึ่งแต่ละปีก็จะมีคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างกันไป สำหรับปีนี้ คอนเซ็ปต์ “I Hear ได้ยินไหม?” ต้องการสะท้อนให้เยาวชนและคนทั่วไปได้เห็นถึงคุณค่าของ "การฟัง" ผ่านการสัมผัสประสบการณ์การฟังในรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามแต่ละยุคสมัยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน"

กิจกรรมของงานดังกล่าวแบ่งออกเป็น 6 โซนด้วยกัน คือ 1.โซน “หูเขา หูเรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” ทดลองฟังเสียงผ่านพื้นดินเพื่อประเมินจำนวนข้าศึกในสงครามยุคโบราณ 2.โซน “กลองขอฝน” เผยตำนานการตีกลองกบขอฝน ส่งสารถึงเทวดาของคนยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์

3.โซน “ฟังมอร์ส ถอดรหัส” จำลองสถานการณ์สื่อสารข้อความผ่านการเคาะสัญญาณมอร์สเพื่อส่งสุดยอดความลับ 4.โซน “โทรป๋อง” ย้อนวัยไปกับโทรศัพท์กระป๋อง ส่องแล้วพูด 5.โซน “LINE” เสียงเตือนของเสียงเตือนแชต คุ้นหูในปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นเสียงที่สร้างมูลค่าในการตลาดมากที่สุด และ 6.โซน “I HEAR รามา” เปิดสตูดิโอให้ได้มาลองพากย์เสียงกัน

"เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมครบทุกโซน และจบด้วยการแสดงหนึ่งเสียงล้านอารมณ์จากทีมสะบัดลาย ก็จะทำให้เราเข้าใจว่าการฟังที่ดีมีประโยชน์อย่างไร การฟังไม่ดีจะเป็นอย่างไร การแปลค่า ตัดสินคน ไม่ฟังให้ดีนั้นจะเป็นอย่างไร"

สำหรับกิจกรรมภายในงานที่น่าสนใจอย่างการฟังรหัสมอร์สนั้น นางซองทิพย์ กล่าวว่า แม้รหัสมอร์สจะไม่ได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะปัจจุบันมีการสื่อสารแบบอื่นเข้ามาแทนที่การสื่อสารผ่านทางไกล แต่ในแง่ของการขอความช่วยเหลือหรือการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือในระยะไกลที่เรารู้จักกันดีคือ SOS ก็มีที่มาจากรหัสมอร์ส และยังสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหากเราต้องการขอความช่วยเหลือได้เช่นกัน

"สัญญาณขอความช่วยเหลือ SOS เมื่อเป็นรหัสมอร์สคือการเคาะ สั้น 3 ยาว 3 สั้น 3 "...---..." ซึ่งถือเป็นรหัสสากล แต่ยอมรับว่าปัจจุบันยังมีคนอีกมากที่ยังไม่ทราบและไม่รู้จักรหัสนี้ หากเราตกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน ก็สามารถนำรหัสมอร์สนี้มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ เช่น ทุบสั้น 3 ครั้ง ทุบยาว 3 ครั้ง ทุบสั้น 3 ครั้ง หรืออย่างติดเกาะ อาจใช้กระจกสะท้อนแสงเป็นสัญญาณสั้น 3 ที แวบยาว 3 ที และสั้นอีก 3 ที หรืออาจใช้ไฟฉายปิดเปิด เปิดสั้น 3 ที เปิดยาว 3 ที และเปิดสั้น 3 ที เป็นต้น"

สำหรับรหัสมอร์ส เป็นการส่งผ่านข้อความตามชุดสัญญาณ สามารถส่งผ่านได้หลายวิธี ทั้งการใช้ไฟฉาย การเคาะ การกระพริบตา โดยการใช้ชุดสัญลักษณ์กำหนดไว้เป็นมาตรฐานแล้วมักกำหนดด้วยสัญลักษณ์สั้น (.) ยาว (-) รหัสมอร์สถูกคิดค้นในปี 2380 โดยแซมมวล ฟินลี บรีซ มอร์ส เพื่อใช้ในการส่งโทรเลข สำหรับประเทศไทยเริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีการคิดค้นรหัสมอร์สภาษาไทยขึ้นและประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พ.ย. 2455 ซึ่งปัจจุบันรหัสมอร์สยังมีการใช้อยู่ในการสื่อสารของทหารเรือ

การส่งรหัสมอร์สแต่ละตัวอักษรและตัวเลข มีลักษณะดังนี้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น