วิจัยพบใช้กล้องตรวจจับความเร็ว ช่วยลดอุบัติเหตุ เจ็บตายลงได้ ประสิทธิภาพเท่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 คน ทำงาน 8 ชั่วโมง แต่ต้องเพิ่มกำลังคน และอุปกรณ์
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันอุบัติเหตุ กล่าวถึงโครงการวิจัยเรื่อง “การป้องกันอุบัติเหตุทางถนนโดยการควบคุมความเร็วบนถนนมิตรภาพ จ.ขอนแก่น” ในงานสัมมนาระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 12 ว่า ปัจจุบันปริมาณการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุเพิ่มขึ้น สาเหตุหนึ่งมาจากการใช้ความเร็วมากกว่ากำหนด จึงทำการวิจัยกึ่งทดลองขึ้นที่ถนนมิตรภาพ ระยะทาง 14 กิโลเมตร ช่วงทางหลวงจาก จ.ขอนแก่น ไป จ.อุดรธานี เมื่อ ม.ค.- ธ.ค. 2557 ด้วยการติดกล้องตรวจจับความเร็วแบบอัตโนมัติ กำหนดความเร็วที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วเขตเมืองมาตรฐานสากลตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก
นพ.วิทยา กล่าวว่า จากการวิจัยพบว่า การใช้กล้องตรวจจับความเร็วอัตโนมัติ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกล้อง 1 ตัว เท่ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจทำงาน 8 ชั่วโมง 3 คน ทั้งนี้ การทำงานได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนร่วมกันกับท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเตรียมอุปกรณ์ เก็บข้อมูลพื้นฐานสำรวจการขับขี่ด้วยความเร็ว เก็บสถิติการเกิดอุบัติเหตุ และติดตั้งกล้องบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จากนั้นเก็บข้อมูลและนำมาประเมินผลเปรียบเทียบ โดยพบว่า หลังดำเนินมาตรการดังกล่าว มีการจับกุมผู้ใช้ความเร็วเกินกำหนด 42,161 ราย จากเดิมจับกุมด้วยการตั้งด่านได้ 400 ราย จำนวนผู้ขับขี่ด้วยความเร็วลดลงจาก ร้อยละ 40.5 เป็น ร้อยละ 31.7 จำนวนผู้บาดเจ็บลดลงร้อยละ 8 สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจากความเร็วลดลงร้อยละ 34.8
“ประสิทธิภาพของกล้องทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่หลังจากหมดโครงการไม่สามารถดำเนินการต่อเนื่องได้ เนื่องจากตำรวจทางหลวงมีภารกิจมาก แม้ว่ากล้องจะทำงานอัตโนมัติ แต่ขั้นตอนหลังจากนั้นต้องมีบุคลากรในการทำงานจัดส่งเอกสารเปรียบเทียบปรับ จึงจำเป็นต้องเพิ่มบุคลากรและแบ่งบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน เรื่องการจราจรกับการอำนวยการ นอกจากนี้ เครื่องมือยังไม่พอ ควรจัดหาเพิ่มโดยเฉพาะกล้องตรวจจับความเร็ว ควรจัดสรรให้ตำรวจภูธร ซึ่งมีกำลังคนมากจะทำให้ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องมากขึ้น ทั้งนี้ การติดกล้องตรวจจับความเร็ว ไม่ว่าจะเป็นจำนวนการใช้กล้อง จุดที่เหมาะสมในการติดตั้งกล้องจะขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่ แต่ควรมีการควบคุมความเร็วบริเวณทางหลวงผ่านเมือง โดยติดตั้งกล้องในจุดเสี่ยงที่มีข้อมูลอุบัติเหตุบ่อยครั้ง” นพ.วิทยา กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่