แพทยสภาไม่รับลูก “จัดอบรมเสริมความงามระยะสั้น” หลังถูกกระแสต้าน แต่ยอมรับการอบรมช่วยควบคุมมาตรฐาน เหตุไม่มีกฎหมายห้ามแพทย์ทำศัลยกรรมเสริมความงาม เว้นศัลยกรรมซับซ้อนอย่างแปลงเพศ ยกต่างประเทศจัดอบรมเพื่อคัดกรองแพทย์ทำงานเสริมสวย
วันนี้ (24 พ.ย.) นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงกรณีมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ผู้แทนแพทย์ได้ลงชื่อจำนวน 840 คน ยื่นหนังสือต่อแพทยสภา นำโดย นพ.สัณห์ ศัลยศิริ เพื่อขอให้มีการจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้นเกี่ยวกับการศัลยกรรมเสริมความงาม เพื่อเป็นการควบคุมมาตรฐานของแพทย์ที่ให้บริการด้านนี้ ว่า แพทยสภายังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะมีการเปิดอบรมหลักสูตรศัลยกรรมเสริมความงามเป็นรายหัตถการตามที่มีข้อเรียกร้อง ซึ่งตามขั้นตอนปกติ สมาชิกแพทยสภาจำนวน 50 คนขึ้นไป สามารถรวมตัวมาเรียกร้องเกี่ยวกับระเบียบต่าง ๆ ได้ โดยจะต้องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภา ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ และยิ่งมีการคัดค้านก็คงเป็นเรื่องยาก
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเปิดอบรมหลักสูตรดังกล่าวจะช่วยควบคุมมาตรฐานได้จริงหรือไม่ นพ.สัมพันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการเสริมความงามมีอยู่แล้วและมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้จากมูลค่าตลาดศัลยกรรมเสริมความงามพุ่งสูงถึงปีละ 3 - 4 หมื่นล้านบาท ประชาชนเองก็นิยม ทั้งฉีดฟิลเลอร์ เสริมตาสองชั้น เสริมจมูก เป็นต้น ซึ่งทุกวันนี้ไม่มีกฎระเบียบในการคุมมาตรฐาน ยกเว้นจะมีการร้องเรียน แต่หากมีหลักสูตรการอบรมก็จะช่วยควบคุมจำนวนแพทย์ที่ทำด้านนี้ให้อยู่ในกรอบได้ ไม่ใช่ไปเพิ่มแพทย์อย่างที่บางกลุ่มคิด และเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าแพทยสภาสนับสนุนแพทย์พาณิชย์ ทั้งที่ข้อเท็จจริงต้องการปกป้องประชาชน อย่างสิงคโปร มาเลเซีย ก็๋มีการอบรมลักษณะนี้ ใครจะทำหัตถการด้านนี้ต้องผ่านการอบรมก่อน แต่ประเทศไทยไม่ได้มีกฎหมายห้าม แพทย์สามารถทำศัลยกรรมได้ แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง มีกฎระเบียบควบคุมการทำศัลยกรรมเฉพาะกรณีซับซ้อน เช่น การแปลงเพศ จะระบุชัดว่าต้องเป็นแพทย์ด้านใด อาทิ ศัลยกรรมตกแต่ง แพทย์ด้านศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา หรือระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น แต่อย่างการทำตาสองชั้น เสริมจมูกเหล่านี้ ไม่มีการควบคุม
นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สภาวิชาชีพจะทำหน้าที่ปกป้องประชาชน ส่วนสมาคมวิชาชีพจะดูแลสิทธิผู้ประกอบวิชาชีพนั้นๆ โดยแพทยสภามีหน้าที่ปกป้องดูแลสิทธิประชาชนก่อน ดังนั้น ข้อเสนอเปิดอบรมหลักสูตรระยะสั้นศัลยกรรมเสริมความงามจึงมองว่า แพทยสภาต้องไตร่ตรองให้ดี และอยู่บนพื้นฐานการคุ้มครองสิทธิประชาชน โดยผลกระทบที่ต้องระวังคือ 1. ภาพพจน์ของแพทย์จากผู้รักษาจะกลายเป็นแพทย์เชิงพาณิชย์ และ 2. การยกระดับมาตรฐานจะทำได้จริงหรือไม่ เพราะแม้จะอบรมเทคนิคการฉีดฟิลเลอร์ การดมยา การศัลยกรรมตกแต่งต่าง ๆ ย่อมมีผลแทรกซ้อนได้ และการอบรมระยะสั้นนั้น มองว่า ไม่น่าจะครอบคลุมการดูแลได้ทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาแพทย์ด้านศัลยกรรมตกแต่งจะต้องผ่านการอบรม และจบหลักสูตรเฉพาะ อย่างน้อย 5 ปี ซึ่งแม้ปัจจุบันจะมีความลักลั่นมาก แต่เรื่องนี้แพทยสภาก็ต้องพิจารณาให้ดี ไม่ใช่รับลูกง่าย ๆ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่