สำรวจความรุนแรงในครอบครัวผ่านมุมมองลูก พบ 85% เห็นพ่อแม่ทะเลาะกัน เผยเสียใจ ร้องไห้ กังวล เครียด ชินชา พบ 6.7% อยากประชดพ่อแม่ ส่วนใหญ่อยากได้ครอบครัวกลับมาสนิทสนมเหมือนเดิม สสส. ชี้ ดื่มเหล้า เล่นการพนัน เกิดทำร้ายร่างกายเพิ่ม 90% ทำลายข้าวของเพิ่ม 124% แนะเปิด ปรับ เปลี่ยน ยุติความรุนแรง
วันนี้ (19 พ.ย.) เวลา 10.00 น. ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ประจำปี 2558 ภายใต้แนวคิด “เปิด ปรับ เปลี่ยน:หยุดความรุนแรง” โดย นายสิทธิศักดิ์ พนไธสงค์ ฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้เดือน พ.ย. เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก มูลนิธิจึงลงพื้นที่เก็บรวบรวมความคิดเห็นสถานการณ์ปัญหาความรุนแรง โดยสำรวจเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 ในมุมมองของลูกกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว จาก 26 โรงเรียน ในพื้นที่ กทม. และต่างจังหวัด และพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยู่กับพ่อและแม่ โดย 85.1% ยอมรับว่า คนในครอบครัวเคยมีปากเสียงทะเลาะเบาะแว้งกัน กิจวัตรประจำวันของคนในครอบครัวที่น่าห่วง คือ 70.6% ติดมือถือ เล่นไลน์ เฟซบุ๊ก 63.4% โต้เถียง ด่าทอ พูดจาหยาบคาย 62.8% พ่อแม่ทำงานหนักไม่มีเวลาให้ลูก 57% คนในครอบครัวดื่มเหล้า/เบียร์/เล่นการพนัน อบายมุข
เมื่อถามถึงความรู้สึกที่พ่อแม่ทะเลาะกัน พบว่า เด็ก ๆ ส่วนใหญ่รู้สึกเสียใจ ร้องไห้ กลัวกังวล เครียด เบื่อเซ็ง หมดกำลังใจ หรือมีแม้กระทั่งพบเห็นบ่อยจนชินไปแล้ว ทั้งนี้ สิ่งที่เด็ก ๆ เลือกทำเมื่อเห็นคนในครอบครัวทะเลาะกันคือ 23.4% เลือกที่จะเข้าไปห้าม 14.4% เลือกที่จะอยู่เฉย ๆ 10% ขอเก็บปัญหาไว้คนเดียวไม่บอกใคร แต่ที่น่าห่วงคือ 6.7% อยากจะประชดพ่อแม่
“เมื่อเด็ก ๆ เห็นคนในครอบครัวดื่มเหล้าเบียร์ มักจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วกลุ่มตัวอย่างต้องการให้ครอบครัวกลับมามีความสุข สนิทสนมกัน พูดคุยกันทุกเรื่อง มีเวลาให้ครอบครัว มีกิจกรรมที่ทำร่วมกัน รับประทานอาหาร ดูโทรทัศน์ ช่วยกันทำงานบ้าน คอยให้คำปรึกษาลูก ๆ คือ ทุกคนต้องให้ความสำคัญกับครอบครัว ทำกิจกรรมร่วมกันบ่อย ๆ หรืออยากให้มีเวลาอยู่ด้วยกัน ทำกิจกรรมด้วยกันอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งวัน ตลอดจนขอให้ใช้เหตุผลมากกว่าการทำโทษ พูดคุยกันให้มากขึ้น ที่สำคัญคือ เด็ก ๆ อยากให้พ่อแม่เลิกดื่ม เลิกพนัน และอบายมุข” นายสิทธิศักดิ์ กล่าว
นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยง สสส. กล่าวว่า จากผลสำรวจสะท้อนว่าครอบครัวมีความขัดแย้งหลายระดับ ตั้งแต่การทะเลาะด่าทอพูดจาหยาบคาย ทำร้ายร่างกาย ทำลายข้าวของ ซึ่งครอบครัวที่ดื่มเหล้าเบียร์ หรือเล่นพนัน มีโอกาสขัดแย้งมากขึ้น มีผลทำให้ทะเลาะเพิ่มขึ้น 14% ด่าทอเพิ่มขึ้น 46% ทำร้ายร่างกายเพิ่มขึ้น 90% และทำลายข้าวของเพิ่มขึ้น 124% อย่างไรก็ตาม ต้องรณรงค์เชิญชวนให้ทุกครอบครัวเกิดแนวความคิด “เปิด ปรับ เปลี่ยน” เพื่อยุติความรุนแรง เพราะจากสถิติดังกล่าว เด็กจำนวนมากที่เติบโตในครอบครัวที่มีความขัดแย้ง สภาพแบบนี้ทำร้ายจิตใจเด็ก ซึ่งหากมองในมุมหนึ่งจะพบว่าความรุนแรงในครอบครัวเหล่านี้มีสภาพเสมือนโรคติดเชื้อกระโดดจากพ่อแม่ไปสู่ลูก และไปสู่รุ่นต่อ ๆ ไป ไม่สิ้นสุด เด็กจะรู้สึกเจ็บปวด จนชาชิน มองเห็นความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมดา และใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาเมื่อเติบโตขึ้น รวมถึงการดื่มเหล้าเบียร์ หรือเล่นการพนัน จะเพิ่มโอกาสก่อความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นอีก
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่