xs
xsm
sm
md
lg

หลังป่วยไข้เลือดออก อาจใช้เวลาฟื้นตัวตั้งแต่ 3 วันถึงเป็นเดือน ชี้พันธุกรรมเกี่ยวอาการรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทย์จุฬาฯ เผยหลังป่วยไข้เลือดออก อวัยวะใช้เวลาฟื้นตัว 2-3 วัน หรือเป็นสัปดาห์จนถึงเดือน อยู่ที่ร่างกายผู้ป่วย ความรุนแรงของโรคเกี่ยวกับพันธุกรรมต้องเร่งศึกษา พ่วงการดูแลระยะต้น ย้ำห้ามกินแอสไพริน ยาตระกูลลงท้าย -เฟน
 
วันนี้ (13 พ.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวในงานแถลงข่าว เรื่อง"ไข้เลือดออก....น่ากลัวหรือไม่?" ว่า อาการสำคัญของโรคไข้เลือดออก คือ ไข้สูงลอย หมายถึงมีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส  กินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลง ปวดเมื่อยตามตัว ช่วงแรกอาจจะแยกยากจากโรคไข้หวัดใหญ่ จนเมื่อเข้าสู่วันที่ 3-4 จึงจะเป็นอาการชัด ส่วนใหญ่เป็นอาการทางระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเลือดออกบริเวณผิวหนัง แต่โอกาสที่ประชาชนจะเป็นเองยากมาก แพทย์ต้องทำการรัดแขน หากมีอาเจียนเป็นเลือด แสดงว่ามีเลือดออกในกระเพาะอาหาร การรักษาจะยากขึ้น ส่วนใหญ่ไข้เลือดออกไม่รุนแรง เมื่อไข้ลดลงอาการจะดีขึ้น เว้นแต่ผู้ป่วยที่เมื่อไข้ลดลงแล้วแต่อาการแย่ลง เช่น ปวดท้องมากขึ้น อาเจียน ตัวเย็น ต้องรีบพบแพทย์ แต่เป็นส่วนน้อย

รศ.นพ.ชิษณุ กล่าวว่า ไข้เลือดออกช่วงอันตราย คือ 1.มีการรั่วของพลาสมาออกจากหลอดเลือด ถ้ารั่วมากจะเกิดภาวะช็อก  2.เลือดออกในกระเพาะเพราะเกล็ดเลือดต่ำทำให้มีเลือดออก แต่จะเป็นชั่วคราว และ 3.อวัยวะบางอย่างล้มเหลว เช่น ปอด  ตับ ไต ทั้งนี้ โอกาสเกิดความรุนแรงพบน้อย แต่บางคนมีอาการรุนแรงมาก จนอวัยวะล้มเหลวแพทย์จะทำการรักษาโดยหวังว่าอวัยวะจะกลับมาทำงานได้ตามปกติ อาการก็จะดีขึ้น จนหาย ส่วนระยะเวลาที่อวัยวะจะทำงานปกติอาจ 2-3 วัน เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือนขึ้นอยู่กับร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน ต้องอาศัยความแข็งแรงของร่างกายผู้ป่วย

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ  หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในปี 2558 เชื่อว่าจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในไทยจะใกล้เคียงกับปี 2556 ที่มีการระบาดมาก จึงไม่ถือว่าปีนี้มีการระบาดที่ผิดปกติ เนื่องจากไข้เลือดออกจะระบาดปีเว้นปี หรือปีเว้น 2 ปี อัตราป่วยแล้วเสียชีวิตไม่แตกต่างจากเดิมอยู่ที่ 1 ต่อ 1,000 ประชากร จากการศึกษาของศูนย์ฯพบว่าสายพันธุ์ที่พบบ่อยในปี 2558 มีทั้ง1-4 แต่ที่พบบ่อยที่สุด คือสายพันธุ์ที่ 4

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า บางคนที่โรครุนแรง แต่บางคนไม่รุนแรง อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรมอันนึงที่ทำให้แต่ละคนตอบสนองต่อการติดเชื้อไข้เลือดออกไม่เหมือนกัน ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นพันธุกรรมไหนจำเป็นต้องเร่งศึกษา  นอกจากนี้ ความรุนแรงเกี่ยวกับการดูแลระยะแรก ช่วงไข้ การขาดน้ำ การกินยาลดไข้พวกแอสไพริน หรือยาที่ลงท้ายด้วยเฟน (-Fen) หรือที่เรียกว่ายาลดไข้สูง ห้ามกินเด็ดขาดในผู้ป่วยไข้เลือดออก เพราะจะทำให้อาการรุนแรงขึ้น เลือดออกได้มากขึ้น เสียเลือดมาก

"ผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้วสามารถเป็นได้อีก เพราะไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ โดยการเป็นครั้งที่ 2 อาการจะรุนแรงกว่า ซึ่งภาวะช็อกมักจะเกิดขึ้นในการป่วยครั้งที่ 2 เพราะตราบาปการติดเชื้อครั้งแรก ทำให้มีปฏิกิริยาภูมิต้านทานรุนแรงเร็ว เมื่อเกิดการรบกันระหว่างภูมิต้านทานต่อไปไวรัสในบ้านเจ้าถิ่น ทำให้บ้านพังเสียหาย"ศ.นพ.ยงกล่าว

ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล ผช.อธิการบดีและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกันและโรคติดเชื้อ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม กล่าวว่า ยุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกเมื่อไข่ออกมาไข่และลูกน้ำก็จะมีเชื้อด้วย หากอุณหภูมิของอากาศมากขึ้นเวลาที่ไข่ยุงจะกลายไปเป็นยุงลายจะสั้นมากทำให้ปริมาณการแพร่เชื้อได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะถ้าฝนตกสลับกับอากาศร้อนจะมียุงลายมากมีโอกาสโรคไข้เลือดออกระบาดมาก โดยยุงลายจะหากินเวลากลางวันและอยู่บริเวณในบ้าน ชอบอยู่ตามสิ่งห้อยแขวน น้ำนิ่งใส บินไกลได้ 100-200 เมตร ไม่ชอบแสงและลมแรง โดยชอบกัดเด็ก เพราะผิวนุ่ม ผู้หญิงเพราะมีฮอร์โมนดึงดูดบางอย่าง คนหายใจแรงเพราะมีคาร์บอนไดออกไซด์รอบตัวมาก คนที่เหงื่อออกมากและคนที่สวมใส่เสื้อผ้าสีเข้ม ที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นยุ่งจะชอบ การป้องกันจึงต้องทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น