อภ. เผยยอดจำหน่ายยาปี 2558 พุ่ง 1.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% ช่วยรัฐประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า 5,000 ล้านบาท ส่งรายได้ให้รัฐอีก 600 ล้านบาท ตั้งเป้าเพิ่มยอดขายปี 2559 เป็น 1.35 หมื่นล้านบาท ลั่นใน 5 ปี เพิ่มกำลังการผลิตทุกสายการผลิต 50% เดินหน้าการเข้าถึงยาในระบบสถานพยาบาล
วันนี้ (10 พ.ย.) พล.อ.ศุภกร สงวนชาติศรไกร ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) แถลงข่าวผลการดำเนินงานในปี 2558 และทิศทางการดำเนินงานในปี 2559 ว่า ผลประกอบการของ อภ. ในปี 2558 นั้น มียอดจำหน่าย 12,772 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ประมาณ 10% หรือราว 1,295 ล้านบาท กว่าครึ่ง หรือประมาณ 6,552 ล้านบาท เป็นยาที่ อภ. ผลิตเอง ส่วนใหญ่เป็นยาต้านไวรัสเอดส์ ยาหัวใจ ยาความดัน ยาเบาหวาน เป็นต้น ส่วนที่เหลืออีก 6,220 ล้านบาท เป็นยาผู้ผลิตอื่น ส่วนใหญ่เป็นยาที่ อภ. ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดหา โดยเฉพาะน้ำยาล้างไต รวมไปถึงยาที่มีการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร หรือยาซีแอล ยากำพร้า ยามูลค่าสูง โดยในปี 2559 อภ. ตั้งเป้ามียอดขายทุกผลิตภัณฑ์ไว้ที่ 13,500 ล้านบาท
“สำหรับยอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจาก อภ. ได้มีการปรับกระบวนการทำงานในหลายด้าน ทั้งการบริหารบุคคล วิธีจัดซื้อจัดหายา การตลาด และระบบขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โปร่งใส และตรวจสอบได้ และจากการที่ อภ. ทำหน้าที่ผลิตและจัดหายาเชิงสังคม เพื่อทดแทนการนำเข้า ทำให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณด้านยาได้ถึง 5,343 ล้านบาท" ประธานบอร์ด อภ. กล่าวและว่า สำหรับการดำเนินงานในปี 2559 - 2563 หรือในอีก 5 ปี อภ. มีแผนผลิตยาเพิ่มกำลังการผลิตทั้งยา เวชภัณฑ์และเภสัชเคมีภัณฑ์อีก 50% หรือจะผลิตเพิ่มให้ได้ปีละ 10% โดยแผนงานที่สำคัญ อาทิ ก่อสร้างโรงงานผลิตยาแห่งใหม่ในเฟส 2 ที่รังสิต เพื่อผลิตยาน้ำ ครีม ขี้ผึ้ง ยาปราศจากเชื้อ และยาเม็ด ก่อสร้างโรงงานผลิตเภสัชเคมีภัณฑ์แห่งใหม่ แผนการก่อสร้างระบบคลังและศูนย์กระจายสินค้าให้ทันสมัย ได้มาตรฐาน และรวดเร็วทั่วถึง สร้างพันธมิตรร่วมมือวิจัย พัฒนายา เวชภัณฑ์ ผลิตยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผอ.อภ. กล่าวว่า ในปี 2558 อภ. ส่งรายได้ให้รัฐ ประมาณ 600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่แต่ละปีจะส่งรายได้ประมาณ 300 - 500 ล้านบาท ทั้งนี้ ปี 2558 อภ. ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ จำนวน 5 รายการ ประกอบด้วย ยาต้านไวรัสเอดส์ Efavirenz ขนาด 50 และ200 มิลลิกรัม ยารักษาจิตเวช Fluoxetine 20 มิลลิกรัม ชนิดเม็ดละลายน้ำ ยาเม็ดรักษาอาการศีรษะล้าน GPO-Finax-1 ขนาด 1 มิลลิกรัม ยาเม็ดรักษาผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโตผิดปกติ GPO-Finax-5 ขนาด 5 มิลลิกรัม และผลิตภัณฑ์สมุนไพรบำรุงความจำพรมมิ รวมทั้งจัดหายาที่จำเป็นทั้งยาที่ อภ. เป็นผู้ผลิตและยาจากบริษัทผู้ผลิตอื่น เพื่อส่งไปยังหน่วยบริการสาธารณสุข อีก 5 รายการ ได้แก่ ยารักษาอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ยารักษาอาการเคลื่อนไหวผิดปกติจากการใช้ยาทางจิตเวช ใช้รักษาอาการพาร์กินสัน ยารักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ยาลดความดัน และยารักษาซิฟิลิส
นพ.นพพร กล่าวว่า การกระจายยาและเวชภัณฑ์เพื่อสร้างการเข้าถึงยา จะดำเนินการเชิงรุกในกลุ่มโรงพยาบาลรัฐ โรงเรียนแพทย์ รพ.เอกชน และคลินิก พัฒนารูปแบบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและอาหารเสริมผ่านระบบ E-Commerce พร้อมพัฒนาระบบขนส่ง โดยพัฒนาระบบ Real VMI และ Smart VMI ซึ่งจะช่วยให้ อภ.รู้ข้อมูลว่าโรงพยาบาลมีการใช้ยาเท่าไรอย่างไร เพื่อจะได้ทราบว่าจะต้องเติมยาให้แก่โรงพยาบาลจำนวนเท่าไร ซึ่งเป็นระบบบริหารคลังยาร่วมกับหน่วยบริการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพิ่มช่องทางการเข้าถึงยาระดับอำเภอ ส่วนการวิจัยด้านยาและสมุนไพรจะร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แลสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดและประชาชนอย่างจริงจังทุกปี ไม่น้อยกว่า 25 รายการ ในปี 2563