xs
xsm
sm
md
lg

10 วิธีใช้ยาฆ่าแมลงอย่างปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมอนามัยแนะ 10 วิธีใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างปลอดภัย ป้องกันรับสารพิษตกค้าง เผยสะสมนานก่อมะเร็ง ออกฤทธิ์เฉียบพลัน ส่งผลต่อระบบประสาทอาจถึงขั้นเสียชีวิต

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีการนำสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาใช้อย่างแพร่หลาย ทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ในช่วงปี 2550 - 2556 มีรายงานผู้ป่วยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากที่สุดคือภาคกลาง ร้อยละ 31 - 36 รองลงมาคือ ภาคเหนือ ร้อยละ 27 - 31 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 18 - 20 และภาคใต้ ร้อยละ 18 - 19 ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม รองลงมาคือ อาชีพรับจ้าง กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 45 - 54 ปี พบผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง ทั้งนี้ สารเคมีกำจัดศัตรูพืชแบ่งเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มออร์กาโนคลอรีน เป็นสารที่สลายตัวยาก ทำให้เกิดการตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานาน เช่น Endosulfan, Aldrin, DDT, Methoxychor ส่งผลให้เกิดพิษเฉียบพลัน มีผลต่อระบบประสาทพิษเรื้อรัง หากใช้ในปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน อาจมีผลต่อการทำงานของตับและทำให้เกิดโรคมะเร็ง หรือโลหิตจางได้

2. กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต สลายตัวได้ค่อนข้างเร็ว จึงไม่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการกระตุ้นปลายประสาทอย่างรุนแรงและเสียชีวิตได้ง่าย อาการอื่นที่พบ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน น้ำตาไหล เหงื่อออก ม่านตาหด กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะไม่ได้ การเกร็งของหลอดลม 3. กลุ่มไพรีทรอยด์ส เป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบจากธรรมชาติ การใช้อย่างเจือจางทำให้ไม่มีฤทธิ์สะสมในร่างกาย จึงเกิดพิษต่อคนและสัตว์น้อยมาก 4. สารกำจัดศัตรูพืชประเภทวัชพืช (Herbicides) สารกลุ่มนี้ดูดซึมทางผิวหนังได้ดี โดยเฉพาะถ้ามีบาดแผล มักมีผลต่อตับ ปอด อาจมีเลือดออกในทางเดินอาหาร 5. สารกำจัดหนูและสัตว์กัดแทะ ส่วนใหญ่เป็นสารกลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Wafarin หยุดยั้งการสร้างวิตามิน เค ทำให้เลือดออกตามผิวหนัง และส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เม็ดเลือดขาวต่ำ ลมพิษ และ 6. สารกำจัดเชื้อรา ซึ่งมีใช้กันอยู่มากมาย บางชนิดมีพิษน้อย บางชนิดมีพิษมาก

“ประชาชนที่จำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช สามารถป้องกันอันตรายได้ ดังนี้ 1. อ่านฉลากให้เข้าใจเกี่ยวกับวิธีใช้ การป้องกันอันตรายและวิธีแก้พิษ 2. ผสมสารเคมีให้ถูกต้องตามอัตราส่วนที่ระบุในฉลากและเตรียมน้ำสะอาดไว้ล้างกรณีกระเด็นเข้าตาหรือหก 3. ไม่ควรใช้มือเปล่าขณะผสมสารเคมี 4. สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกชนิดควรบรรจุในภาชนะเดิม ถ้าจะถ่ายใส่ภาชนะใหม่ต้องติดป้ายบอกชัดเจน 5. ผสมสารเคมีให้พอดี ใช้ให้หมดในครั้งเดียว หากใช้ไม่หมดควรเก็บให้มิดชิด 6. ตรวจเช็กอุปกรณ์การฉีดพ่นให้อยู่ในสภาพดี หากหัวฉีดอุดตัน ห้ามใช้ปากเป่า แต่ให้ถอดหัวฉีดออกมาทำความสะอาดโดยแช่ในน้ำ 7. สวมเสื้อผ้ามิดชิด และสวมอุปกรณ์ป้องกันอันตราย  8. ห้ามกินอาหาร น้ำ หรือสูบบุหรี่ขณะผสมสารเคมี 9. กรณีสัมผัสสารเคมีทางผิวหนัง ให้ชำระล้างด้วยน้ำสะอาดนาน ๆ อย่างน้อย 15 นาที รีบอาบน้ำฟอกสบู่เปลี่ยนเสื้อผ้า และ 10. ไม่ควรฉีดพ่นในขณะที่ลมแรง หรือฝนตก และยืนอยู่เหนือลมเสมอ” นพ.วชิระ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น