xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ยันไม่ห้ามเปิด “ลานเบียร์” ขอทำถูก กม.ชี้จ้าง “ดารา-สาวเชียร์เบียร์” ผิดโฆษณา ม.32

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. ยันไม่ได้ห้ามเปิดลานเบียร์ แต่ขอให้ทำถูกต้องตามกฎหมาย “หมอสมาน” ชี้ เปิดลานเบียร์ได้ แต่ต้องไม่เข้าข่ายการโฆษณาตามมาตรา 32 พ.ร.บ. คุมน้ำเมา เผยจ้างดารานักร้อง สาวเชียร์เบียร์ จัดโปรโมชั่นถือเป็นการสื่อการตลาด ยันแสดงโลโก้ได้ แต่ต้องมีคำเตือนประกอบใต้ภาพ

จากกรณี นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่าการจัดลานเบียร์อาจผิดตามมาตรา 32 พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพราะเข้าข่ายการโฆษณาชักจูงให้ดื่มทั้งทางตรงและทางอ้อม จน “ต๊อด ปิติ ภิรมย์ภักดี” โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าวว่าเป็นการปิดกั้นการทำมาหากินของดารา พนักงานบริการ และระบุว่าจะท้าชนโดยการจ้างดารานักร้องมาร่วมงาน และวัดกันว่าใครจะอยู่ใครจะไป

วันนี้ (4 พ.ย.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า กฎหมายไม่ได้ห้ามไม่ให้มีลานเบียร์ เพราะการเปิดลานเบียร์ต้องมีการขออนุญาตก่อนอยู่แล้ว จึงจะเปิดได้ แต่อย่าทำอะไรที่เกินเลยกว่าที่กฎหมายอนุญาต อย่าทำอะไรที่กฎหมายห้ามไว้ในมาตรา 32 พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ก็สามารถดำเนินการได้ ถ้ารู้ขอบเขตของกฎหมายและกำหนดไม่ให้ตนเองก้าวล่วงก็อยู่กันได้อย่างสงบ ส่วนกรณีสาวเชียร์เบียร์ที่ต้องสวมชุดที่มีโลโก้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ต้องไปดูรายละเอียดของมาตรา 32 ว่าทำได้หรือทำไม่ได้แค่ไหน อย่างไร แล้วคุยทำความเข้าใจกัน ทำในเรื่องที่ตนเองรับผิดชอบให้ถูกต้อง ยืนยันว่า สธ. ไม่ได้ห้ามใครไม่ให้ทำอะไร ไม่ได้กลั่นแกล้งผู้ประกอบการหรือใคร แต่ห้ามไม่ให้ทำอะไรเกินไป เจตนารมณ์ของกฎหมายก็เป็นอย่างนี้

ด้าน นพ.สมาน กล่าวว่า ขอย้ำว่า ไม่ได้ห้ามเปิดลานเบียร์ เพียงแต่การเปิดต้องเป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย คือ 1. การขาย ต้องได้รับอนุญาตจากกรมสรรพสามิตในการจำหน่ายสุรา และมีการเปิดจำหน่ายถูกต้องตามเวลา และ 2. ต้องไม่เข้าข่ายการโฆษณา ซึ่งการสื่อสารการตลาด ถือเป็นการโฆษณาตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ด้วย อย่างลานเบียร์ต้องพิจารณาหลายองค์ประกอบร่วมกัน ไม่ใช่แค่มีโลโก้หรือยี่ห้อเบียร์เท่านั้น เพราะหากแสดงเพียงโลโก้ ยี่ห้อของเบียร์ ก็จะมีข้อยกเว้นในแง่ต้องมีคำเตือนข้างใต้ภาพ แต่ต้องพิจารณาเรื่องการใช้ดารา นักร้อง นักแสดง จูงใจให้มาซื้อดื่ม การใช้สื่อตกแต่งลานเบียร์เพื่อขายภาพลักษณ์สินค้าและเชิญชวนมาซื้อ มีสาวเชียร์เบียร์ คอยเชียร์เพื่อเพิ่มยอดขาย ซึ่งถือเป็นสื่อบุคคลจำนวนมาก และมักจะมีการลด แลก แจกแถม ผ่านการเล่นเกมบนเวที เหล่านี้จึงถือเป็นกิจกรรมสื่อสารการตลาด ซึ่งก็คือการโฆษณาตามความหมายในมาตรา 3 อย่างไรก็ตาม ถ้าแค่เป็นเด็กเสิร์ฟมาขายเบียร์ก็ไม่เป็นปัญหา

นายฉัตรชัย วิรัตน์โยสินทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า เรื่องลานเบียร์ไม่ผิดแน่นอน เพราะได้ใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย กิจกรรมในลานเบียร์ก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ ไม่มีการลด แลก แจก แถม ส่วนกรณีเด็กเชียร์เบียร์มีโลโก้เครื่องดื่มก็ไม่ถือว่าผิด เพราะไม่มีคำเชิญชวน หรืออ้างสรรพคุณ แค่แสดงสัญลักษณ์ให้ทราบว่าเป็นพนักงานของบริษัทเท่านั้น แต่กฎหมายต้องการให้ไล่พนักงานพวกนี้ออกอย่างนั้นหรือไม่ เฉพาะบริษัทตนมีพนักงานเหล่านี้ประมาณ 3 - 4 พันคน ส่วนดนตรีที่เล่นก็เหมือนกับการเล่นในผับ ซึ่งไม่คิดว่าจะมีผลให้คนอยากดื่มเบียร์เพิ่มขึ้นเพราะฟังเพลง ที่สำคัญ หลังมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบนี้แล้วมีเจ้าหน้าที่คนไหนลงไปดูหรือไม่ ดังนั้น คิดว่าเรื่องนี้เกิดจากจินตนาการของผู้ใช้กฎหมายทั้งสิ้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น