xs
xsm
sm
md
lg

“มะเร็งเต้านม” รู้เร็ว รักษาหายขาด รพ.จุฬาภรณ์ แจกเต้านมเทียม-ชุดชั้นใน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รพ.จุฬาภรณ์ เผยหญิงไทยป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ 54,000 รายต่อปี ตายเฉลี่ยวันละ 14 คน ย้ำรู้เร็วรักษาไวมีสิทธิหายขาดสูง แนะตรวจเต้านมเป็นประจำ พบมะเร็งเต้านม 50 - 60% เป็นชนิดโตจากฮอร์โมนเพศหญิง ชี้ มียาต้านฮอร์โมนช่วยรักษา แจกเต้านมเทียม พร้อมเสื้อชั้นในฟรี

วันนี้ (7 ต.ค.) ที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ รศ.นพ.องค์การ เรืองรัตนอัมพร รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ รพ.จุฬาภรณ์ กล่าวในงานกิจกรรมรณรงค์ป้องกันโรคมะเร็งเต้านมในสตรีไทย ภายใต้แนวคิด “มะเร็งเต้านม รู้ก่อน มีสิทธิ์หาย” ว่า จากสถิติขององค์การอนามัยโลกปี 2555 พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั่วโลก 1.7 ล้านราย สำหรับประเทศไทย โรคมะเร็งเต้านมถือเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญ และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของสตรีไทยมากเป็นอันดับ 1 โดยปี 2555 พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ 54,000 ราย เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 14 ราย

พญ.สุดารัตน์ ชัยเพียรเจริญกิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา รพ.จุฬาภรณ์ กล่าวว่า มะเร็งเต้านมสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยเฉพาะหากรักษาเร็วตั้งแต่แรกเริ่มโอกาสหายขาดจะยิ่งสูง โดยมะเร็งเต้านมระยะที่ 1 คือ ก้อนมะเร็งยังมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร และยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง โอกาสหายขาดสูงถึง 98% ระยะที่ 2 - 3 คือ ระยะลุกลามเฉพาะที่ ก้อนมะเร็งมีขนาด 2 - 5 เซนติเมตร แพร่กระจายมายังบริเวณต่อมน้ำเหลืองแล้ว โอกาสหายขาดอยู่ที่ 84% ส่วนมะเร็งระยะที่ 4 หรือระยะแพร่กระจายหรือระยะสุดท้าย ที่มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่นในร่างกายแล้ว โอกาสหายขาดมีเพียง 24% ดังนั้น การรู้ตัวก่อนว่ามีก้อนมะเร็งอยู่ในเต้านมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งสามารถตรวจได้ด้วยตนเอง คือ การคลำเต้านมของตนเอง ช่วงระยะเวลาที่ดีที่สุด คือ ช่วงหลังหมดประจำเดือน ทั้งนี้ เมื่อคลำแล้วสะดุดพบก้อน หากไม่แน่ใจให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ซึ่งสามารถตรวจได้ด้วยการอัลตราซาวนด์ และการทำแมมโมแกรม

“มะเร็งเต้านมถือเป็นเรื่องใกล้ตัว ส่วนสาเหตุในการเกิดนั้นยังไม่แน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยง คือ เพศหญิง เนื่องจากมีฮอร์โมนเอสโตรเจน อย่างไรก็ตาม ในผู้ชายก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ สถิติอยู่ที่ประมาณ 5% นอกจากนี้ ผู้ที่มีญาติป่วยมะเร็งเต้านม น้ำหนักเกิน มีประจำเดือนเร็วกว่าปกติ ประจำเดือนหมดช้ากว่าปกติ ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หลังอายุ 35 ปี ถือว่ามีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านมด้วย ส่วนการป้องกันแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ และหลากหลาย ออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนัก และเลี่ยงการกินยาฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด หากมีความจำเป็นต้องใช้ควรปรึกษาแพทย์ ส่วนกรณีการรับประทานน้ำเต้าหู้ ยังไม่มีงานวิจัยแน่ชัดว่าก่อให้เกิดความเสี่ยง หรือกระตุ้นในการเกิดมะเร็งเต้านม แม้ในน้ำเต้าหู้จะมีฮอร์โมนเพศหญิง คือ เอสโตรเจน แต่เป็นลักษณะของไฟโตเอสโตรเจนที่ได้จากพืช ไม่ใช่ฮอร์โมนเพศหญิงแบบปกติ” พญ.สุดารัตน์ กล่าว

พญ.จอมธนา ศิริไพบูลย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา รพ.จุฬาภรณ์ กล่าวว่า การตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมอย่างละเอียด ทั้งปัจจัยด้านผู้ป่วย ลักษณะของมะเร็ง ตำแหน่ง ขนาด เป็นต้น จะช่วยให้สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม ซึ่งมีหลายวิธี คือ 1. การผ่าตัด มีทั้งแบบผ่าตัดสงวนเต้า คือ ผ่าตัดเฉพาะก้อนมะเร็งออกไป และผ่าตัดแบบเอาเต้าออกทั้งหมด 2. การฉายรังสี เป็นการรักษาเสริม เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งซ้ำเฉพาะที่ รวมถึงรักษาจากการกระจายของโรคมะเร็งเต้านมไปยังสมอง หรือกระดูกด้วย 3. การให้เคมีบำบัด หากให้หลังผ่าตัดถือเป็นการรักษาเสริม ช่วยลดการเป็นมะเร็งซ้ำ ช่วยให้หายขาด หากให้ก่อนผ่าตัด จะช่วยลดขนาดก้อนมะเร็งลงให้สามารถผ่าตัดได้ ส่วนการนำมาใช้เป็นการรักษาหลัก จะใช้ในระยะที่มะเร็งแพร่กระจาย เพื่อควบคุมมะเร็งไม่ให้ลุกลามอย่างรวดเร็ว

พญ.จอมธนา กล่าวว่า 4. ยาต้านฮอร์โมน สามารถใช้ได้เมื่อตรวจเซลล์มะเร็งแล้วพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมชนิดที่เจริญเติบโตด้วยการกระตุ้นจากฮอร์โมนเพศหญิง คือ เซลล์มะเร็งมีตัวรับฮอร์โมนเพศหญิงจำนวนมาก ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม 50 - 60% และ 5. การรักษาโดยให้ยาแบบมุ่งเป้าหมาย สามารถใช้ได้ต่อเมื่อตรวจพบเซลล์มะเร็งผลิตเฮอร์ทูออกมาจำนวมาก ซึ่งส่งผลให้มะเร็งมีความรุนแรง โตเร็วผิดปกติ ซึ่งยานี้จะออกฤทธิ์เฉพาะเซลล์มะเร็งโดยไปขัดการทำงานของตัวเฮอร์ทู ทำให้เซลล์มะเร็งตาย โดยไม่ทำลายเซลล์ปกติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รพ.จุฬาภรณ์ได้แจกเต้านมเทียม พร้อมเสื้อชั้นในที่เย็บพิเศษ สำหรับใส่เต้านมเทียม ให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม และผู้ที่ตัดเต้านมทิ้งโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสามารถมารับเต้านมเทียมและเสื้อชั้นในสำหรับใส่เต้านมเทียมได้ที่ รพ.จุฬาภรณ์

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น