xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่มยา 18 รายการ “เอดส์-มะเร็ง-โปลิโอ” สิทธิประโยชน์ “บัตรทอง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บอร์ด สปสช. เห็นชอบเพิ่มยา 18 รายการ เป็นสิทธิประโยชน์ “บัตรทอง” ทั้งวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด - หยอด 2 สายพันธุ์ ยารักษามะเร็ง ยาต้านไวรัสเอดส์ ทั้งสูตรเดี่ยว - สูตรผสม ยารักษาหิด โลน เริ่มปีงบประมาณ 59 หลังถูกดันเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ

ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบเพิ่มยาจำนวน 18 รายการ เป็นสิทธิประโยชน์แก่ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 เป็นต้นไป ตามที่คณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการ สปสช.เสนอ หลังจากที่คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ มีมติเห็นชอบเพิ่มรายการยาใหม่ 18 รายการดังกล่าว เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติในปี 2558 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

ภญ.เนตรนภิส กล่าวว่า ยาใหม่ทั้ง 18 รายการ ประกอบด้วย 1. วัคซีนป้องกันโปลิโอชนิดเชื้อตายรูปแบบฉีด (IPV) 2. วัคซีนโปลิโอชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์รูปแบบหยอดรับประทาน (OPV) ชนิด Bivalent 3. ยาโปรคาบาซีน แคปซูล (Procabazine capsule) ยารักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน 4. ยาคาร์มัสทีน (Carmustine inj.) ประกอบการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กินและนอนฮอดจ์กิน 5. ยาไตรแอมซิโนโลน อะเซโทไนด์ (Triamcinolone acetonide) ยาป้ายรักษาแผลเปื่อยในช่องปาก 6. ยาอิสพากัวลา ฮัสก์ (Ispaghula Husk) ยาเพิ่มกากในทางเดินอาหาร 7. ยาเพอร์เมทริน 1% (Permethrin1% cream, lotion) ยาทารักษาโลน 8. ยาเพอร์เมทริน 5% (Permethrin 5% cream ,lotion) ยาทารักษาหิดและโลน 9.ไอเวอร์เมกติน (Ivermectin tab) ยารักษาโรคหิดที่ใช้ยาทาไม่ได้ผล

ภญ.เนตรนภิส กล่าวว่า 10. ลีวีไทราซีแทม (Levetiracetam) ยารักษาผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ หรือไม่ตอบสนองต่อการใช้ ไดอะซีแพม ลอราซีแพม เฟนีโทอิน ฟีโนบาร์บิทัล และวาลโปรเอท 11. ยาฟีนอล (Phenol inj.) รักษากล้ามเนื้อหดเกร็ง 12. ยาแอลกอฮอล์ (Acetyl alcohol) รักษากล้ามเนื้อหดเกร็ง 13. อะบาคาเวียร์ (Abacavir tab) ยาต้านไวรัสเอดส์ สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยาทีโนโฟเวียร์ไม่ได้ และเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีอายุ 6 เดือนขึ้นไป 14. ริลพิไวรีน (Rilpivirine tab) ยาต้านไวรัสเอดส์ กรณีผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียงทางจิตประสาทที่ทำให้ไม่สามารถใช้ยาเอฟฟาไวเรนซ์ได้ 15. ยาสูตรผสมทีโนโฟเวียร์ ไดโซพรอกซิล ฟูมาเรต + เอ็มทริซิทานีน + เอฟฟาไวเรนซ์ (Tenofovir disoproxil fumarate + Emtricitabine + Effavirenz Tab) 16. ยาสูตรผสมทีโนโฟเวียร์ ไดโซพรอกซิล ฟูมาเรต + เอ็มตริไซตามีน (Tenofovir disoproxil fumarate + EmtricitabineTab) 17. ยาสูตรผสมอะบาคาเวียร์ + ลามิวูดีน ( Abacavir+ Lamivudine Tab) กรณีผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียงทางจิตประสาทที่ทำให้ไม่สามารถใช้ยาเอฟฟาไวเรนซ์ได้ และ 18. ยาทริปโทเรลิน และยาลูโปรเรลิน อะซิเตท (Triptorelin และ Leuprorelin acetate) รักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระดับความเสี่ยงปานกลาง สูง และสูงมาก

การบรรจุวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอทั้ง 2 ตัวนั้นเป็นการดำเนินงานตามนโยบายกวาดล้างโรคโปลิโอขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยวัคซีนชนิดหยอดที่บรรจุใหม่นั้นเป็นการปรับลดวัคซีนรวม 3 สายพันธุ์ เหลือเพียงสองสายพันธุ์ ส่วนในกลุ่มยามะเร็งนั้นถือว่าเป็นยาที่ค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก และเป็นยาที่อยู่ในโปรโตคอลรักษามะเร็งอยู่แล้ว ขณะที่ยาต้านไวรัสเอดส์ในกลุ่มสูตรผสมส่งผลให้มีราคาถูกลง อีกทั้งเพิ่มความสะดวกต่อผู้ป่วยในการรับประทานยา จึงทำให้สามารถบรรจุในบัญชียาหลักฯ ได้ สำหรับยารักษาแผลในช่องปากนั้นเดิมทีเคบยรรจุอยู่ในบัญชียาหลักฯ มาก่อนแล้วแต่ถูกถอดออกไป แต่ภายหลังมีเสียงจากทันตแพทย์ว่าหายารักษาได้ยาก จึงนำกลับเข้ามาบรรจุอีกรอบ” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น