วธ. ประกาศขึ้นทะเบียน มรดกภาพยนตร์ปี 58 ยกย่องสารคดีในหลวงเสด็จออกผนวช ปี 2499 ภารกิจทหารอาสาสยามในสงครามโลกครั้งที่ 1 และเด็กซน สมัย ร.7 สะท้อนวิถีการเล่นของเด็ก
วันนี้ (4 ต.ค.) ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวในงานประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2558 เนื่องในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย ว่า หอภาพยนตร์ ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ตั้งแต่ปี 2554 เพื่อให้สาธารณชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย โดยคัดเลือกภาพยนตร์ที่สำคัญ ๆ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และความทรงจำ มีคุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์ มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ บูรณภาพ รวมทั้งมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียหรือยากแก่การหาทดแทน ตลอดจนมีอิทธิพลต่อคนและสังคม ซึ่งมีภาพยนตร์ได้รับการขึ้นทะเบียนรวมทั้งสิ้น 125 เรื่อง ซึ่งนับรวมปี 2558 ครั้งที่ 5 จำนวน 25 เรื่อง ได้แก่ 1. ภารกิจทหารอาสาสยามในสงครามโลกครั้งที่ 1 2. เด็กซนสมัย ร.7 3. พันท้ายนรสิงห์ 4. ทหารไทยไปเกาหลี 5. มรดกพระจอมเกล้า
6. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกผนวช (พ.ศ. 2499) 7. โฆษณาพระเครื่องฉลอง 25 พุทธศตวรรษ 8. ทะโมนไพร 9. การปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติในตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลและผู้นำทางทหารจนถึงล้มป่วยและอสัญกรรมของ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ 10. ยุทธนา - ศิริพร 11. สายเลือดเดียวกัน 12. ชู้ 13. วัยตกกระ 14. เงาะป่า 15. ประชาชนนอก 16. เพื่อน - แพง 17. ด้วยเกล้า 18. บ้านผีปอบ 2 19. เรื่องตลก 69 20. บางระจัน 21. สุริโยไท 22. 15 ค่ำ เดือน 11 23. องค์บาก 24. ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ และ 25. รักแห่งสยาม
นายวีระ กล่าวว่า ปีนี้มีภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนที่ทรงคุณค่าและน่าสนใจในด้านบันทึกประวัติศาสตร์ ความทรงจำ และมีอิทธิพลต่อสังคม อาทิ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกผนวช ภาพยนตร์สารคดีบันทึกเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกผนวช ระหว่างวันที่ 22 ต.ค. จนกระทั่งลาผนวชในวันที่ 5 พ.ย. 2499 ภารกิจทหารอาสาสยามในสงครามโลกครั้งที่ 1 ภาพยนตร์บันทึกกิจวัตรของกองทหารอาสาสยามที่ไปร่วมรบในสงครามโลก ครั้งที่ 1, ทหารไทยไปเกาหลี ภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อเห็นเหตุผลที่ประเทศไทยต้องส่งกองกำลังอาสาสมัครเข้าร่วมสงครามเกาหลี เด็กซนสมัย ร.7 ภาพยนตร์ที่บันทึกพฤติกรรมการเล่นซนหรือการเล่นอวดของเด็กไทยในสมัยรัชกาลที่ 7
“การประกาศขึ้นทะเบียนภาพยนตร์ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์แล้วจะเป็นการเผยแพร่มรดกภาพยนตร์ในฐานะสื่อที่ให้ความรู้และเป็นประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงศักยภาพของภาพยนตร์ไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน อีกทั้งภาพยนตร์ยังเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยในปีที่ผ่านมากว่า 57,000 ล้านบาท โดยกระทรวงวัฒนธรรมได้เตรียมมาตรการส่งเสริมภาพยนตร์ โดยเฉพาะด้านภาษี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยอีกด้วย” รมว.วัฒนธรรม กล่าว
ด้าน นายโดม สุขวงศ์ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ กล่าวว่า 4 ตุลาคม ถือเป็นวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ จึงได้มีการขึ้นทะเบียนภาพยนตร์เป็นมรดกของชาติ เพื่อเป็นเครื่องประกาศว่าภาพยนตร์นั้นมีคุณค่าและสำคัญของชาติ จะปล่อยให้สูญหายหรือเสื่อมโทรมไปไม่ได้ ขณะเดียวกันจะต้องส่งเสริมให้ประชาชนได้รู้ ได้ดู ได้เรียนรู้ ชื่นชม และได้ใช้ประโยชน์สูงสุดจากภาพยนตร์เหล่านั้นด้วย
ทั้งนี้ หอภาพยนตร์จะนำภาพยนตร์ที่ขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 5 บางส่วน มาจัดฉายในเดือน พ.ย. ถึง ธ.ค. ที่โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา (ฟรี) โทร. 02 482 2013-14 ต่อ 111 หรือ www.fapot.orgและ www.facebook.com/thaifilmarchivepage
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่