xs
xsm
sm
md
lg

จิตแพทย์เผย ชาวเขาป่วยจิตคลั่งฆ่าเด็ก 5 ศพ “ขาดยา-ดื่มเหล้า” ทำอาการกำเริบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จิตแพทย์เผยหนุ่มชาวเขาป่วยจิตคลั่งฟันเด็กตาย 5 ศพ ขาดยารักษาแถมดื่มเหล้า กระตุ้นอาการกำเริบจนก่อเหตุสลด ยันป่วยทางจิตก็ต้องรับโทษควบคู่การรักษา ยันผู้ป่วยอยู่ร่วมคนในสังคมได้ แต่ต้องดูแลไม่ให้ขาดยา เร่งส่งทีมวิกฤตสุขภาพจิตหาสาเหตุพร้อมเยียวยาครอบครัวเหยื่อ วอนหยุดส่งภาพเกิดเหตุผ่านโซเชียล

วันนี้ (28 ก.ย.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีนายอาซาผะ สีวัวะ ชาวเขาเผ่าลีซอ อายุ 24 ปี ที่มีอาการป่วยทางจิต ก่อเหตุเอามีดไล่ฟันเด็กเสียชีวิต 5 ศพ ที่ ต.หนองบัว อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ ว่า ผู้ป่วยจิตเภทรายนี้ทราบข้อมูลเบื้องต้น ว่า เคยเข้ารับการรักษาที่ รพ.สวนปรุง เนื่องจากอาการกำเริบจากการดื่มสุรา แต่เมื่ออาการดีขึ้นจึงให้ออกจากโรงพยาบาล กลับมาอยู่ที่บ้านกับครอบครัวได้ 2 เดือน โดยมีนัดรับยารักษาโรคล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งวันนัดหมายพบว่ามีญาติมารับยาแทน แต่ตัวผู้ป่วยไม่ได้เดินทางมาพบแพทย์ ทั้งนี้ จากลักษณะอาการและคำให้การของญาติพบว่า ผู้ป่วยเริ่มมีอาการหงุดหงิด วิตกกังวล กระสับกระส่ายมาได้ประมาณ 1 สัปดาห์ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ป่วยน่าจะไม่ได้รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง ประกอบกับมีการดื่มเหล้าด้วย จึงทำให้อาการกำเริบ ถือเป็นครั้งที่ 4 ที่มีอาการกำเริบ

ผู้ป่วยจิตเภทนั้น ระบบประสาทอัตโนมัติจะทำงานไม่ปกติ ซึ่งในหัวของผู้ป่วยจิตเภทจะได้ยินเสียงอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีเสียงดังเจี๊ยวจ๊าวที่ผู้ป่วยไม่สามารถจับใจความได้ จะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ป่วยต้องกระทำการบางอย่างเพื่อหยุดเสียงเหล่านั้นให้ได้โดยไม่เลือกวิธีการ ทั้งนี้ แม้ทุกอย่างสงบลงแล้วแต่ผู้ป่วยจะยังได้ยินเสียงเหล่านั้นต่อเนื่องไปอีกสักประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ผู้ป่วยก็จะอยู่กับที่ไม่ออกไปก่อเหตุเพิ่มในจุดอื่น” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ขณะนี้ได้ส่งทีมวิกฤตสุขภาพจิตลงพื้นที่เข้าไปสืบหาสาเหตุเพิ่มเติมแล้ว พร้อมทั้งให้การเยียวยาครอบครัวผู้เสียหายและชุมชน ซึ่งจะต้องติดตามต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปี ทั้งนี้ ยืนยันว่า ผู้ป่วยจิตเภทอยู่ร่วมกับสังคมได้ แต่ต้องได้รับการดูแลจากครอบครัว โดยสังคมก็ต้องช่วยกันสอดส่องดูแล อย่าให้ขาดยา ไม่ให้มีสิ่งกระตุ้น เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติด และขณะนี้มี พ.ร.บ.สุขภาพจิตที่จะคุ้มครองเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย และสังคม ดังนั้น ไม่ว่าใครถ้าพบเห็นความผิดปกติสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อรับตัวมาดูแลรักษาได้

พญ.พรรณพิมล กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ต้องอยู่ที่กระบวนการสอบสวนและกระบวนการทดสอบทางด้านสุขภาพจิตด้วยว่า สติสัมปชัญญะช่วงก่อนก่อเหตุและระหว่างลงมือเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ก็เกิดขึ้นแล้ว ผู้ป่วยก็ต้องเข้าสู่กระบวนการรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เช่น กักบริเวณ ไร้อิสรภาพให้สำนึกควบคู่ไปกับการบำบัดรักษา ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยจิตเภทจะไม่ได้รับบทลงโทษเลย นอกจากนี้ ขอให้หยุดหยุดส่งต่อภาพเด็กที่ตกเป็นเหยื่อรายดังกล่าวด้วย ซึ่งขณะนี้มีการส่งต่อผ่านทางโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นการซ้ำเติมสภาพจิตใจของญาติให้สลดหดหู่ และซ้ำเติมให้สังคมรู้สึกเกลียดชังผู้ป่วยจิตเภทมากขึ้น ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีกับใคร

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น