วธ. จัดเสวนา “เซ็กซ์ในสื่อโฆษณา” วอนเจ้าของสินค้า ผู้ผลิตตระหนักถึงเยาวชน ด้าน “เอื้อจิต” แฉพบใช้สรีระชาย - หญิง กระตุ้นยอดขายสินค้า ขณะที่ สคบ. เจ้าของควักค่าปรับ 3 หมื่น แต่ฟันกำไรเพียบ
ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวในงานเสวนา เรื่อง เซ็กซ์ในสื่อโฆษณา การตลาดที่สร้างสรรค์หรือทำลาย จัดโดยสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ว่า ขณะนี้พัฒนาการของสื่อโฆษณามีความเข้มข้นมากขึ้น ที่สำคัญ มีช่องทางสื่อโฆษณามากมาย ทั้งสิ่งตีพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ บิลบอร์ด สื่อออนไลน์ และออฟไลน์ ส่งผลผู้ผลิตสื่อโฆษณาต้องหาสิ่งเร้า กระตุ้นให้สินค้าขายดี โดยไม่ได้ตระหนักถึงผลเสียที่เกิดกับเด็ก เยาวชน และประชาชน อย่างไรก็ตาม ทางออกที่ดีที่สุดก็คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดผนึกกำลังช่วยกันสร้างภูมิต้านทาน พร้อมชี้ให้เห็นผลเสียที่จะเกิดขึ้น
นางอัชญา บุญสุวรรณ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนสื่อโฆษณาเหมาะสมจำนวนมาก มีทั้งสื่อโทรทัศน์ เคเบิ้ลทีวี นิตยสาร ส่วนใหญ่เป็นโฆษณาครีมอาบน้ำ โลชั่นทาผิว ชุดชั้นใน และป้ายบิลบอร์ดบนท้องถนน เมื่อได้รับการร้องเรียน สคบ. ทำหนังสือเชิญเจ้าของสินค้า และบริษัทที่ทำสื่อมาชี้แจงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีข้อจำกัดของบทลงโทษที่ปรับเพียง 30,000 บาท ส่งผลให้ยังมีผู้ทำโฆษณาที่สื่อไปทางอนาจารอยู่เรื่อย ๆ โดยยอมเสียค่าปรับเพียงเล็กน้อยแต่ได้กำไรมากกว่า
ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรตน์ไตรรัตน์ ผอ.โครงการมีเดียมอนิเตอร์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันมีการนำเรื่องของสรีระของเพศหญิงและชายมานำเสนอเป็นหลักในโฆษณาเกือบ ทุกประเภท โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ จึงอยากให้ วธ. จัดทำการจัดเรตติ้งโฆษณาในมิติวัฒนธรรม โดยมีเฉดสีที่ชี้ให้เห็นถึงระดับความไม่เหมาะสมต่าง ๆ และเสนอให้ กสทช.ออกข้อกฎหมายเพื่อควบคุมการดูแลสื่อโฆษณาอย่างจริงจัง
น.ส.อ่อนอุษา ลำเลียงพล นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่า มีตัวเลขเว็บออนไลน์ทั่วโลกกว่า 1 พันล้านเว็บ รวมไปถึงสื่อโซเซียลมีเดีย เฟซบุ๊ก ที่มีการโฆษณาที่ไม่เหมาะสมแฝงอยู่ ถือเป็นสื่อที่ป้องกันยาก ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงไอซีทีต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง ขณะเดียวกัน ในการปฏิรูปสื่อครั้งนี้อยากให้มีการจัดทำ พ.ร.บ.ปฏิรูปสื่อให้ครอบคลุมทุกด้านที่มีมาตรการที่ชัดเจน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่