xs
xsm
sm
md
lg

คุณเป็นพ่อแม่ที่ชอบควบคุมลูกมากเกินไปหรือเปล่า / ดร.แพง ชินพงศ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เราตระหนักกันดีอยู่แล้วว่าพ่อแม่มีหน้าที่ในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนลูกให้ลูกเติบโตขึ้นอย่างสมบูรณ์ ทั้งจิตใจและร่างกายอย่างเป็นธรรมชาติ แต่มีพ่อแม่บางคนที่เลี้ยงลูกแบบควบคุมมากเกินไปจนทำให้เกิดผลเสียอย่างมากมายตามมา ซึ่งลักษณะของพ่อแม่ประเภทนี้ ได้แก่

1. ชอบความสมบูรณ์แบบ บุคลิกลักษณะที่เห็นได้ชัดของผู้ปกครองที่ชอบควบคุมลูกมากเกินไป คือชอบความสมบูรณ์แบบ แทนที่จะให้ลูกได้ทำอะไรด้วยตนเองตามพัฒนาการของวัย ที่อาจจะทำถูกบ้างผิดบ้าง ก็กลับไม่ไว้วางใจกลัวว่าลูกจะทำอะไรผิดพลาดหรือเสียหาย หรือไม่เป็นอย่างที่พ่อแม่คิดหรือคาดการณ์จะให้เป็น จึงต้องเข้ามาควบคุมลูกให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ตามคำสั่งของตน ลูกจึงขาดการพัฒนาตนเองทั้งการกล้าตัดสินใจ การกล้าแสดงออกและการมีความคิดสร้างสรรค์

2. ต้องการให้ลูกดีที่สุดเสมอ ผู้ปกครองที่ควบคุมลูกมากเกินไปมักจะคิดว่าตัวเองรู้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับลูก เป็นพ่อแม่ประเภทรู้หมดทุกอย่าง เข้าใจหมดทุกเรื่องและเชื่อว่าวิธีของตัวเองเป็นวิธีที่สุด จึงจบลงด้วยการทำอะไรให้ลูกอยู่เสมอ คอยจัดการและจัดแจงในทุกๆ อย่าง ลักษณะว่าลูกไม่ต้องพ่อแม่ทำเอง เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ตนทำให้ลูกดีที่สุด ลูกไม่ต้องลงมือทำเพราะเดี๋ยวจะไม่ดี ผลที่ตามมาคือลูกจะรู้สึกว่าตนเองด้อยค่า ขาดคุณค่าในตัวเอง ไร้อำนาจและไม่ดีพอ เด็กบางคนจะกลายเป็นคนอ่อนแอเพราะไม่เคยทำอะไรด้วยตนเอง และที่แย่ไปกว่านั้นคือเด็กบางคนจะกลายเป็นคนประเภทนิ่งดูดายและชี้นิ้วสั่งเพราะเคยชินกับการที่มีคนทำทุกอย่างให้

3. มีความคาดหวังสูง อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าผู้ปกครองที่ชอบควบคุมลูกมากเกินไป มักจะเป็นคนที่ชอบความสมบูรณ์แบบ ดังนั้น เมื่อมีความสมบูรณ์แบบก็มักจะมีความคาดหวังในตัวลูกสูง ทำให้ลูกมีความกดดัน ต้องการให้ไปถึงเป้าหมายที่พ่อแม่อยากให้ลูกไป เช่น พยายามบังคับให้ลูกต้องสอบได้คะแนนเต็มหรือได้คะแนนสูงสุดในทุกวิชา ทัศนคติเหล่านี้จะฝังอยู่ในตัวลูก ทำให้ลูกเป็นเด็กชอบแข่งขันชิงดีชิงเด่น แพ้ไม่ได้ ผิดพลาดไม่ได้ ถ้ายิ่งฝังรากลึกก็จะยิ่งเป็นคนก้าวร้าวและดุดัน ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ชัยชนะโดยไม่สนใจวิธีการที่ถูกต้อง

4. ควบคุมความสัมพันธ์ของลูกอยู่ตลอดเวลา พ่อแม่ประเภทนี้จะควบคุมลูกถึงขนาดเลือกเพื่อนให้ลูก จัดแจงให้เสร็จว่าลูกต้องคบใครหรือคบคนนี้คนนั้นได้หรือไม่ และไม่ว่าลูกจะพูดจะคุยกับเพื่อนคนใดก็ต้องมาร่วมฟังบทสนทนาของลูกกับเพื่อนเสมอ และคอยตรวจสอบทุกอย่างจนลูกไม่มีอิสรเสรีที่จะทำอะไรได้อย่างที่ต้องการ ซึ่งถ้ามากจนเกินไปจนทำให้ลูกรู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเอง ก็อาจทำให้ลูกต้องหาทางระบายออกจากความอึดอัดนี้ด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสม เช่นการใช้ยาเสพติดหรือหนีออกจากบ้าน

5. รักอย่างมีเงื่อนไข พ่อแม่ที่ชอบควบคุมมักจะชอบสร้างเงื่อนไข โดยใช้ความรักเป็นตัวต่อรอง เช่น ถ้าหนูกินข้าวไม่หมด แม่จะไม่รักนะ ถ้าหนูไม่เชื่อฟังพ่อ พ่อจะรักน้องมากกว่านะ โดยมักจะชอบพูดประชดเปรียบเทียบ ทำให้ลูกรู้สึกกลัว อาจถึงขั้นคิดว่าพ่อแม่ไม่รักจริงๆ และสงสัยในความสัมพันธ์ที่พ่อแม่มีต่อเขาอยู่เสมอ

6. ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ความรักจากลูก เมื่อพ่อแม่เริ่มรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยหรือถูกแย่งความรัก มักจะใช้วิธีแยกลูกออกจากสังคมต่างๆ เช่นแยกลูกออกจากเพื่อนๆ เพื่อให้ชีวิตลูกมีแต่ครอบครัวของตนเองเท่านั้น โดยอาจจะงดให้ลูกออกไปสังสรรค์กับคนนอกบ้าน ควบคุมลูกให้อยู่ในสายตาตลอดเวลา บังคับให้เชื่อฟัง บังคับให้ไปไหนมาไหนด้วยตลอด สิ่งนี้จะส่งผลให้ลูกขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์และกลัวการเข้าสังคม

ลูกที่มาจากครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ควบคุมมากเกินไปเป็นคนที่น่าสงสารมาก เพราะเขาจะเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในตนเอง มีปัญหาทางด้านสังคม เข้ากับคนอื่นไม่ค่อยได้ เก็บกดและมีความทุกข์ตรมอยู่ในจิตใจตลอด คุณพ่อคุณแม่อ่านบทความนี้แล้วลองมาสำรวจตัวเองกันดูสักทีสิว่าเราเป็นพ่อแม่ที่ควบคุมลูกมากเกินไปหรือเปล่า อะไรที่ตึงมากไปก็ไม่ดี รักลูกแต่พอดี ชีวิตครอบครัวจะมีแต่ความสุขสันต์

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น