xs
xsm
sm
md
lg

พบผู้ป่วยอัลไซเมอร์มีโปรตีนเกาะกินพื้นที่เนื้อสมอง สถาบันประสาทเตรียมจัดงานแนะวิธีป้องกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตรวจพบชิ้นเนื้อในสมองผู้ป่วยอัลไซเมอร์มีโปรตีนเกาะกินพื้นที่สมองมากกว่าคนไม่ป่วย ต้นเหตุทำสมองเสีย ชี้ ติดเชื้อไวรัสทำสมองฝ่อตัวได้ แนะป่วยแล้วพบแพทย์ เหตุบางรายจำเป็นต้องใช้ยาลดอาการข้างเคียง ย้ำดูแลสุขภาพตั้งแต่ก่อนป่วยช่วยชะลออัลไซเมอร์ สถาบันประสาทเตรียมจัดงานให้ความรู้สมองเสื่อม 21 - 25 ก.ย.

วันนี้ (18 ก.ย.) นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข  (สธ.) กล่าวว่า โรคอัลไซเมอร์เกิดจากการเสื่อมสลายของเนื้อสมอง โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ อาหาร สิ่งแวดล้อม และการติดเชื้อบางชนิด จากการตรวจชิ้นเนื้อในสมองของผู้ป่วยอัลไซเมอร์หลังจากที่เสียชีวิต พบว่า มีโปรตีนบางชนิดในปริมาณมากกว่าผู้สูงอายุที่ไม่เป็นอัลไซเมอร์ ซึ่งเชื่อว่าโปรตีนนั้นอาจไปเกาะกินพื้นที่สมอง จนทำให้สมองส่วนนั้นทำงานไม่ได้และเสียไปในที่สุด หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้น ทำให้เนื้อสมองส่วนใหญ่เกิดการฝ่อตัว จนทำให้การสั่งการของสมองเสื่อมลงไปเรื่อย ๆ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จึงต้องมีคนดูแลตลอด 24 ชั่วโมง โดยอาจทรุดตัวลงในช่วงระยะ 1 - 3 ปี และเสียชีวิตในเวลา 2 - 10 ปี ด้วยโรคแทรกซ้อน เช่น โรคติดเชื้อจากปอดบวม แผลกดทับ โรคทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

นพ.สุพรรณ กล่าวว่า อาการของโรคนี้ ได้แก่ หลงลืมบ่อย ๆ ลืมในสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว นึกคำพูดไม่ออก และใช้คำอื่นที่ผิดแทนทำให้คนฟังไม่เข้าใจ เชาวน์ปัญญาสมองเสื่อม บวกลบเลขง่าย ๆ ไม่ได้ หลงทางกลับบ้านไม่ถูก แต่งตัวไม่รู้จักกาลเทศะ เก็บข้าวของผิดที่อย่างไม่เหมาะสม อารมณ์เปลี่ยนแปลงเร็วอย่างไม่มีเหตุผล บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเฉยชา ไม่สนใจที่จะทำอะไรเลย ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มียารักษาให้หายขาดได้ แต่มียาที่ช่วยควบคุมอาการต่าง ๆ ให้ลดน้อยลงเพียงชั่วคราว ซึ่งโรคจะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงระยะที่เป็นมาก ๆ การใช้ยาจะไม่ได้ผล

“แม้จะไม่สามารถหยุดความเสื่อม แต่สามารถป้องกันได้ โดยการดูแลสุขภาพให้ดี เช่น คุมภาวะความดันโลหิต เบาหวาน ไขมัน ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า เลี่ยงสารเสพติด ทำให้จิตใจสดชื่นแจ่มใสเสมอ มีความรักความอบอุ่นในครอบครัว ยอมรับสภาพความเป็นจริง ไม่เคร่งเครียดเกินไป นอกจากนี้ ควรทำความเข้าใจและเห็นใจผู้ป่วยอัลไซเมอร์ และพาไปพบแพทย์ระบบประสาท เพราะอาจจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อช่วยลดอาการข้างเคียงต่าง ๆ” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม เนื่องในวันอัลไซเมอร์โลกระหว่างวันที่ 21 - 25 ก.ย. 2558 ที่งานผู้ป่วยนอก อาคารรัชมงคล ชั้น 1 สถาบันประสาทวิทยา ภายในงานมีจัดแสดงนิทรรศการความรู้เรื่องสมองสมองเสื่อม และวันที่ 21 ก.ย. เวลา 08.00 - 11.00 น. มีการจัดกิจกรรม เช่น การตรวจคัดกรองภาวะสมองเสื่อม ออกกำลังสมองป้องกันสมองเสื่อม แสดงอาหารป้องกันสมองเสื่อม ปรึกษาปัญหาเรื่องยา การดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมในเดย์แคร์ เป็นต้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น