xs
xsm
sm
md
lg

ไทยมีทุ่นระเบิดตกค้างอีก 435 ตร.กม. กินพื้นที่ 15 จังหวัด เร่งอบรมวิธีช่วยชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สพฉ. เผย ไทยยังมีทุ่นระเบิดตกค้างอีก 435 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่ 15 จังหวัด ระบุส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชายแดนไทย - เขมร เร่งจัดอบรมการช่วยเหลือทางการแพทย์แก่บุคลากรผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิด หวังช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุ่นระเบิดได้ถูกต้อง

วันนี้ (17 ก.ย.) ที่ห้องประชุมบอลรูม C โรงแรมลายทอง จ.อุบลราชธานี นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวภายในงานโครงการอบรมช่วยเหลือฉุกเฉินทางการแพทย์สำหรับบุคลากรผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิด ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ซึ่งเป็นผลจากความขัดแย้งในประเทศเพื่อนบ้าน และความไม่สงบจากสงครามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต โดยเฉพาะบริเวณชายแดนยังไม่สามารถเก็บกู้ทุ่นระเบิดได้ทั้งหมด ทำให้ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บและพิการจากทุ่นระเบิดอยู่เสมอ ซึ่งจากการสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสนามทุ่นระเบิดระหว่างปี 2543 - 2544 ได้ประมาณพื้นที่ซึ่งอาจมีทุ่นระเบิดสังหารบุคคลตกค้างประมาณ 2,560 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่ 27 จังหวัด 84 อำเภอ 530 หมู่บ้าน และมีประชาชนได้รับผลกระทบ 503,682 คน ปัจจุบันมีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดเหลือ 15 จังหวัด และได้พื้นที่ปลอดภัยรวม 2,125 ตารางกิโลเมตร คงเหลือพื้นที่อันตรายที่ต้องดำเนินการเก็บกู้กวาดล้างอีก 435 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีพื้นที่ติดหรืออยู่ใกล้ชายแดน ส่วนมากบริเวณแนวชายแดนไทยและกัมพูชา

สพฉ. จัดให้มีการอบรมดังกล่าวขึ้น เพื่อพัฒนาความรู้ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานการช่วยชีวิตผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิด (นปท.) กระทรวงการต่างประเทศ และองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไร (NGOs) เพื่อให้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่ระเบิดได้อย่างถูกต้อง” รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าว

นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายสนับสนุนความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคล เพื่อส่งเสริมบทบาทในด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะการผลิตขาเทียมและการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย ที่ผ่านมา มีหน่วยงานของประเทศไทยที่มีขีดความสามารถในเรื่องนี้ ได้แก่ องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไร (NGOs) เช่น มูลนิธิขาเทียมฯ มูลนิธิพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ได้มีการจัดการฝึกอบรมช่างทำขาเทียม และการจัดบริการหน่วยเคลื่อนที่เพื่อผลิตและแจกขาเทียม แก่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เวียดนาม เมียนมา รวมทั้งให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน เช่น กัมพูชา พม่า

“นอกจากนี้ ประเทศไทยสามารถนำความร่วมมือทวิภาคีที่ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านมาเชื่อมโยงและขยายผลต่อสำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ อาทิ ความร่วมมือทวิภาคีทางวิชาการกับลาว โดยประเทศไทยให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขในการพัฒนาระบบบริการของโรงพยาบาลหลายแห่ง ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดสำหรับความร่วมมือด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคลให้ขยายผลต่องานนวัตกรรมต่าง ๆ อีกด้วย” นพ.ไพโรจน์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น