xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง! เสพสื่อออนไลน์เสี่ยงทำร้ายตัวเอง-ฆ่าตัวตายสูง พบ “เหนือ-อีสาน” ยอดพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ไทยฆ่าตัวตายสำเร็จปีละ 3,900 คน เฉลี่ย 1 คน ทุก 2 ชั่วโมง พบภาคเหนือ อีสาน อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงขึ้น เหตุน้อยใจ ทะเลาะคนใกล้ชิด ฝ่ายหญิงพ่วงปัญหาความรัก เตือนโลกออนไลน์เสี่ยงทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตายสูง แนะอย่าท้าทาย เยาะเย้ย นิ่งเฉย แชร์ภาพฆ่าตัวตาย ยิ่งกระตุ้นคนอยากฆ่าตัวตาย

วันนี้ (10 ก.ย.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าววันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ก.ย. ของทุกปี โดยงปีนี้กำหนดประเด็น “ป้องกันการฆ่าตัวตาย ยื่นมือเพื่อช่วยชีวิต” ว่า สถานการณ์การฆ่าตัวตายทั่วโลกอยู่ที่กว่า 800,000 คนต่อปี คาดว่า จะเพิ่มเป็น 1.5 ล้านคน ในปี 2563 สำหรับประเทศไทย ปี 2557 อัตราฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.08 ต่อประชากรแสนคน ฆ่าตัวตายสำเร็จปีละกว่า 3,900 คน เฉลี่ย 1 คน ในทุก 2 ชั่วโมง ผู้ชายฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้หญิง 3 เท่า เป็นกลุ่มอายุ 35 - 39 ปี มากที่สุด อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมอัตราการฆ่าตัวตายจะไม่เกินเป้าหมายที่กำหนด คือ 6.5 ต่อแสนประชากร แต่เมื่อดูตามรายภาคจะพบว่า ภาคเหนือมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่น คือ 10 ต่อประชากรแสนคน สูงสุดที่ จ.ลำพูน 20 ต่อประชากรแสนคน สำหรับการป้องกันจะเน้นใน 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่มีภาวะซึมเศร้า ซึ่งเสี่ยงฆ่าตัวตายสูง เช่น ผู้มีอาการซึมเศร้า ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อาทิ มะเร็ง เบาหวาน ข้อเสื่อม ไตวาย โรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอด ผู้ติดสุรา ยาเสพติด และ 2. กลุ่มฆ่าตัวตายด้วยความหุนหันพลันแล่น ซึ่งมีปัจจัยกระตุ้นมาจากการดื่มสุรา ปัญหาครอบครัว ทั้งนี้ มาตรการป้องกัน คือ การคัดกรองในชุมชน เพื่อให้ได้รับการปรึกษาโดยเร็วและเข้าสู่ระบบบริการ

สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม ซึ่งประเทศไทยมีกว่าจำนวน 16 ล้านคน จากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า ยิ่งเข้าถึงโลกออนไลน์มากเท่าใด ความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการทำร้ายตนเอง/ฆ่าตัวตายจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มที่จิตใจอ่อนไหว เปราะบาง จึงต้องประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจถึงสัญญาณเตือน และวิธีการช่วยเหลือ ให้กำลังใจและหยุดการฆ่าตัวตาย” รมว.สธ. กล่าว

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมการฆ่าตัวตายของคนไทยในจังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง ทั้ง 12 เขตสุขภาพในรอบ 3 ปี พบว่า อัตราการฆ่าตัวตายในเขตสุขภาพที่ 1, 8 และ 9 ซึ่งเป็นภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มสูงขึ้น สาเหตุมาจากความขัดแย้งในครอบครัว ทั้งผู้ชายและผู้หญิงคล้ายกัน คือ เกิดจากความน้อยใจ คนใกล้ชิดดุด่า ทะเลาะกับคนใกล้ชิด และทุกข์ทรมานจากการป่วยโรคเรื้อรัง โดยผู้หญิงจะมีเรื่องความรักความหึงหวงด้วย โดยผู้ชายที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ ร้อยละ 3 จะมีการทำร้ายคนอื่นร่วมด้วย ส่วนผู้หญิงร้อยละ 2 จะทำร้ายคนอื่นก่อนฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ ผู้ที่ฆ่าตัวตายเกือบครึ่งจะแสดงท่าที หรือสัญญาณเตือนล่วงหน้าตั้งแต่ 1 ชั่วโมงถึง 1 เดือน จะพบมากที่สุดในช่วง 3 วันแรกก่อนเสียชีวิต และร้อยละ 79 จะมีเหตุกระตุ้นก่อน เช่น ดื่มสุรา และทะเลาะกับคนใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ที่มีอัตราอยู่ที่ 20 ต่อแสนประชากร ซึ่งเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยไทยจะต้องเฝ้าระวังต่อไป

นพ.เจษฎา กล่าวว่า การป้องกันและลดปัญหาการฆ่าตัวตายจากสื่อสังคมออนไลน์ ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 อย่า และ 3 ควร ได้แก่ 1. อย่าท้าทาย เช่น “ทำเลย” “กล้าทำหรือเปล่า” เพราะจะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้ทำ 2. อย่าใช้คำพูดเยาะเย้ย เช่น “โง่” “บ้า” หรือตำหนิอื่น ๆ เพราะจะยิ่งเพิ่มความคิดทางลบและเพิ่มโอกาสทำมากขึ้น 3. อย่านิ่งเฉย เพราะเป็นเหมือนการสนับสนุนทางอ้อม และ 4. อย่าส่งข้อความ หรือเผยแพร่ภาพการฆ่าตัวตายและความเศร้าโศกของครอบครัวผู้เสียชีวิตจนมากเกินไป เพราะจะกระตุ้นให้ผู้ที่คิดฆ่าตัวตายเลียนแบบ และเพื่อเคารพผู้เสียชีวิตและญาติด้วย ส่วนสิ่งที่ควรทำ ได้แก่ 1. ควรห้าม เพราะโดยทั่วไปผู้ที่คิดฆ่าตัวตายส่วนใหญ่จะลังเลใจ จะช่วยให้ยับยั้งใจได้มากขึ้น 2. ควรชวนคุย ประวิงเวลาให้มีโอกาสทบทวน โดยถามถึงความทุกข์ รับฟัง และไม่ปล่อยให้อยู่คนเดียว ให้คิดถึงคนที่รักและเป็นห่วง แนะทางออกอื่น ๆ และ 3. ควรติดต่อหาความช่วยเหลือ เช่น บุคคลที่ใกล้ชิด

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ช่วงอายุที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่ากลุ่มอื่น คือ 35 - 39 ปี โดยพบว่า อายุต่ำสุดคือ 10 ขวบ และสูงสุดคือ 93 ปี โดยจากการติดตามเด็กอายุ 10 ขวบ ที่ฆ่าตัวตาย พบว่า มีลักษณะปัญหาในครอบครัว เด็กเป็นลูกคนเดียว สาเหตุที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายเพราะอยากเรียกร้องความสนใจ และไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการจากแม่ ที่น่าสนใจคือ เด็กเลือกวิธีการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นวิธีอันดับแรกที่คนไทยฆ่าตัวตาย และเป็นวิธีที่สื่อมักนำเสนอ ซึ่งการฆ่าตัวตายสำเร็จจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โอกาสการเข้าถึงอุปกรณ์ เช่น อาวุธ สารเคมี ก็เป็นปัจจัยสำคัญด้วย โดยกรมสุขภาพจิตมีสายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ โทร. 191 หรือสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อเข้าสู่ระบบบริการโดยเร็ว

นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สาเหตุการฆ่าตัวตายที่เกี่ยวกับโรคเรื้อรังพบว่าอัตราสูงขึ้น 5.9 เท่า รองลงมาเกิดจากการติดสุราเรื้อรัง เพิ่มขึ้น 4.3 เท่า โดยพบว่าข้อมูลในปี 2555 ร้อยละ 20 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ในภาวะการติดสุราเรื้อรัง โดยอยากขอให้ญาติของผู้ที่ติดสุราเรื้อรังได้เข้ารับการรักษาตัว และทราบว่าภาวะดังกล่าวนอกจากจะมีผลกระทบต่อสุขภาพยังก่อให้เกิดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายด้วย ทั้งนี้ สถานการณ์บางจังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง พบว่ามีความสัมพันธ์กับอัตราการดื่มสุราที่มีอัตราสูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ ด้วย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น