เผยผลสำรวจไอคิวเด็ก ป.1 พบอยู่ที่ 93 จุด ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน คือ 100 จุด เมื่อแยกเด็กในเมืองกับชนบทพบ เด็กในเมืองยังอยู่ในเกณฑ์ แต่มีปัญหาเรื่องติดเกม ติดเทคโนโลยี รอคอยไม่เป็น ส่วนเด็กชนบทไอคิวเฉลี่ยต่ำที่ 89 จุด เหตุมีปัญหาความรักความอบอุ่นในครอบครัว ส่งผลต่อพัฒนาการ หวั่นกระทบอีคิวด้วย เร่งพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้ได้มาตรฐาน หวังกระตุ้นพัฒนาการ
วันนี้ (27 พ.ค.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวผลสำรวจระดับสติปัญหา (ไอคิว : IQ) ของนักเรียนป.1 ปี 2557 ว่า จากการสำรวจไอคิวนักเรียน ป.1 จำนวน 4,929 คนทั่วประเทศ พบว่า ไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 93.1 จุด ลดลงจากปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ 94 จุด ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน คือ 100 จุด อย่างไรก็ตาม เด็กในเมืองมีไอคิวเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน คือ 100.72 จุด แต่ในชนบทห่างไกลมีไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 89.18 จุด จากการวิเคราะห์พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อระดับไอคิวของเด็กไทย คือ 1. โภชนาการ ซึ่ง สธ. ได้เพิ่มสารไอโอดีนและโฟเลตให้กับหญิงตั้งครรภ์ และแม่ที่ให้นมบุตรอยู่แล้ว 2. การเลี้ยงดูของครอบครัว โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ จะมีพัฒนาการช้ากว่า และ 3. การเรียนรู้ระหว่างเข้าสู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตรงนี้อยู่ในการดูแลขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ซึ่ง สธ. โดยกรมสุขภาพจิตจะเข้าไปเสริมในเรื่องของอาหาร และเสริมสร้างการเรียนรู้ด้วย
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า มาตรการเพิ่มพัฒนาการของเด็กไทยได้ร่วมมือกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการดูแลเด็กพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย เด็กขาดออกซิเจนระหว่างคลอด และเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงด้านสังคม พร้อมทั้งเข้าไปร่วมในการคัดกรองเด็ก และพัฒนาขีดความสามารถของศูนย์ฯ ให้เป็นแหล่งกระตุ้นพัฒนาการ และความสามารถของเด็กได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากพบว่าขณะนี้มาตรฐานของศูนย์ฯ ยังมีข้อกังขาอยู่ นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตได้เร่งให้การอบรมพยาบาลหลังจบปริญญาตรีแล้วให้มีความรู้เรื่องสุขภาพจิต และการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กเพื่อไปปฏิบัติงานใน รพ.ชุมชน ทั้งประเทศ ซึ่งจะใช้เวลา 4 เดือน
ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากข้อมูลจะพบว่าไอคิวของเด็กเมือง กับเด็กในชนบทต่างกันอยู่มากถึง 11 จุด นี่คือสิ่งที่ต้องเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะโภชนาการที่แตกต่างกันมา และสภาพของครอบครัว โดยจะเห็นว่าเด็กชนบทมีแนวโน้มอยู่ในครอบครัวแหว่งกลาง พ่อแม่แยกทางกัน หรือพ่อแม่ต้องไปทำงานที่อื่น ต้องอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย มากขึ้น วันนี้เด็กเข้าสู่ระบบศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมากขึ้น โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ดังนั้น ต้องทำให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาครั้งนี้ยังพบอีกว่าระดับความสามารถทางอารมณ์ (อีคิว) ของเด็กชนบทจำนวน 3,696 คน พบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ สะท้อนให้เห็นว่าเด็กๆ ยังมีพื้นฐานทางด้านจิตใจที่ดีแต่ก็ต้องดูแลต่อเนื่องเพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปก็จะมีผลต่อสภาพจิตใจที่เปลี่ยนไปด้วยตรงนี้ต้องอาศัยทุกภาคส่วนทำให้เด็กไทยมีไอคิวควบคู่กับอีคิวในระดับที่ดี
“ เด็กชนบทจะมีปัญหาเรื่องความรักความอบอุ่นในครอบครัว ซึ่งมีผลกับการสร้างพัฒนาการของเด็ก ขณะที่เด็กเมืองเราก็พบว่าติดเกม ติดเทคโนโลยี ทำให้มีปัญหาเรื่องการเข้าสังคม รอคอยไม่เป็น ให้ความรักกับคนอื่นไม่เป็น ” พญ.อัมพร กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่