xs
xsm
sm
md
lg

“รับน้อง” เป็นเรื่องสร้างสรรค์และน่ารัก/ ดร.แพง ชินพงศ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิจกรรมรับน้องถือเป็นประเพณีอย่างหนึ่งในการต้อนรับนิสิตนักศึกษาใหม่ก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เป็นกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องให้ได้รู้จักกันก่อนจะมาใช้ชีวิตร่ำเรียนอยู่ในคณะวิชาหรือมหาวิทยาลัยเดียวกันตลอดหลายปีข้างหน้า ซึ่งกิจกรรมการรับน้องนี้ได้รับอิทธิพลมาจากระบบ “โซตัส” (SOTUS) ที่มาจากแนวคิดในการปกครองคนในอาณานิคมของประเทศอังกฤษและอเมริกา ซึ่ง SOTUS มีความหมายมาจากอักษรย่อคือ

S = Seniority หมายถึง เคารพและเกรงใจผู้อาวุโส
O = Order หมายถึง มีระเบียบวินัยทำตามคำสั่งของผู้อาวุโส
T = Tradition หมายถึง ทำตามประเพณีที่ปฏิบัติกันมาตามที่ผู้อาวุโสวางไว้
U = Unity หมายถึง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
S = Spirit หมายถึง การมีจิตวิญญาณที่รักและอุทิศเพื่อสถาบัน

สำหรับประเทศไทย กิจกรรมรับน้องนั้นดูเหมือนจะกลายเป็นประเพณีสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้ของทุกมหาวิทยาลัย ซึ่งแต่เดิมมาก็ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดีเพราะช่วยสร้างความรักความผูกพันธ์กันให้แน่นแฟ้นระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องครูบาอาจารย์ แต่ในปัจจุบันกิจกรรมนี้เปลี่ยนไปในลักษณะที่คึกคะนอง โลดโผน ดุดัน ก้าวร้าว รุนแรงและหยาบคาย จนได้ยินข่าวกันอยู่ในทุกปีถึงการบาดเจ็บและเสียชีวิตของรุ่นน้อง หรือความคึกคะนองที่ทำให้เกิดความหมิ่นเหม่หรือเสื่อมเสียทางด้านศีลธรรม

ด้วยเหตุนี้ คงถึงเวลาแล้วที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนต้องหันมาทบทวนกันอย่างจริงจังแล้วว่าประเพณีการรับน้องใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยปัจจุบันนี้ มีความเหมาะสมและต้องปรับปรุงแก้ไขในแง่ใดบ้าง ซึ่งผู้เขียนขอเป็นส่วนหนึ่งในการเสนอแนวคิด ดังนี้

1. ลด ละ เลี่ยง ความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นคำพูดที่หยาบคาย การเล่นโลดโผนและสกปรกที่เสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ จนถึงขั้นเกิดอันตรายแก่ชีวิตและสุขภาพกายใจ หรือเกิดการทะเลาะวิวาทกันได้ บางทีเราอาจจะลืมไปว่าการกระทำที่สุภาพอ่อนโยนของรุ่นพี่จะสร้างความประทับใจให้กับรุ่นน้องได้มากกว่าการกระทำที่หยาบคายรุนแรง

2. ปลอดอบายมุขทุกประเภท หลายคนคงมองว่าเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้วที่กิจกรรมเกี่ยวกับการสร้างสัมพันธ์ในทุกที่ต้องใช้สุรายาเสพติดเป็นตัวช่วยกระชับให้ความสัมพันธ์แนบแน่นขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ในแวดวงการศึกษาที่บ่อยครั้งเราจะได้ยินข่าวว่ามีการบังคับให้น้องใหม่ดื่มเหล้าสูบยา ทั้งเพื่อตอบสนองความคึกคะนองของรุ่นพี่และเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับรุ่นน้องว่าถ้าทำแบบนี้ก็จะเป็นพี่น้องกันอย่างสมบูรณ์ บางทีเราอาจจะลืมไปว่าการนั่งกินบุฟเฟต์หมูกระทะด้วยกันคุยกันไป จะสร้างความสนุกสนานและเสียงหัวเราะได้มากกว่าการเมาเหล้าแล้วพูดกันไม่รู้เรื่อง

3.จั ดตั้งกรรมการและอาจารย์เป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด เป็นเรื่องที่จำเป็นมากที่กิจกรรมการรับน้องควรจะต้องมีอาจารย์และเจ้าหน้าที่อยู่ประจำคอยดูแลสอดส่องทุกครั้งโดยที่ไม่ปล่อยให้นิสิตนักศึกษารุ่นพี่รุ่นน้องดูแลกันเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่เหมาะสมขึ้น แม้ว่าในทุกมหาวิทยาลัยจะจัดให้มีอาจารย์คอยดูแลกิจกรรมรับน้องอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นลักษณะอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ มากกว่า เพราะเกรงใจไม่อยากรบกวนการทำกิจกรรมและเพราะเห็นว่านิสิตนักศึกษาโตเป็นผู้ใหญ่แล้วจึงน่าจะมีความรับผิดชอบกันในระดับหนึ่ง แต่เมื่อเกิดข่าวไม่ดีขึ้นบ่อยๆก็อาจต้องเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ตั้งแต่ให้รุ่นพี่มาเสนอรูปแบบการทำกิจกรรมให้ฟังว่าเหมาะสมที่จะจัดกิจกรรมในลักษณะนี้หรือไม่ ระหว่างกิจกรรมก็คอยดูว่าจัดกิจกรรมเป็นไปตามที่เสนอไว้ไหม หลังกิจกรรมก็ให้มาสรุปให้ฟังว่าเป็นอย่างไร ก็น่าจะทำให้นิสิตนักศึกษารู้ว่ามีอาจารย์ควบคุมดูแลอยู่อย่างเคร่งครัด จะออกนอกลู่นอกทางไม่ได้

4. จัดกิจกรรมแบบเปิด กิจกรรมการรับน้องนั้นไม่ควรจัดกันในที่ลับตาหรือไปแอบจัดกันนอกสถานที่ๆอาจารย์ดูแลไม่ถึง แต่ควรเป็นการจัดกิจกรรมแบบเปิดเผยที่อาจารย์สามารถเห็นได้ แต่อย่างไรก็ตาม บางกลุ่มรุ่นพี่ก็มักแอบนัดรุ่นน้องอย่างลับๆ ให้ไปรับน้องกันนอกสถานที่โดยไม่ให้อาจารย์หรือพ่อแม่ผู้ปกครองทราบ เพราะฉะนั้นอาจารย์ก็จำเป็นต้องคอยสืบข่าวดูว่าจะมีใครทำอะไรที่ไหนบ้างเพื่อจะได้ควบคุมดูแลได้ทันการณ์ อ่านดูแล้วอาจเป็นเรื่องขำขันว่าอาจารย์ต้องทำกันอย่างนี้หรือ แต่นี่คือวิถีของอาจารย์ที่นอกจากสอนหนังสือแล้วก็ต้องคอยหาข่าวลับๆ ว่าเด็กๆ จะทำอะไรสุ่มเสี่ยงกันบ้างหรือไม่เพื่อกันไว้ดีกว่าแก้ด้วย

5. ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากทีเดียว จากข่าวเรื่องการรับน้องที่ทำให้กระแสสังคมเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นอย่างมากอยู่ในขณะนี้ ที่มีการเต้นส่อไปในทางอนาจารซึ่งเกิดจากความคึกคะนอง ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้ต้องตระหนักว่ากิจกรรมการรับน้องควรจะตั้งอยู่ในกรอบของศีลธรรมอันดีงาม เคารพวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามของสังคมไทย จะเต้นกันสุดเหวี่ยงแบบบ้าหลุดโลกจนไขข้อเสื่อมก่อนวัยคงไม่มีใครว่า เพราะคงรู้สึกสนุกสนานขำขันกันเสียมากกว่า แต่หากลักษณะมันส่อไปในทางอุจาดบาดตาแล้ว คงไม่มีใครชอบหรือเห็นว่าเป็นเรื่องดีงามเป็นแน่

เมื่อมองย้อนกลับไปผู้อ่านทุกๆ ท่านที่ผ่านการเรียนในมหาวิทยาลัยต่างก็ต้องเคยผ่านประสบการณ์ของกิจกรรมการรับน้องมาด้วยกันทั้งนั้น ผู้เขียนเองเมื่อครั้งที่เป็นนิสิตปี 1 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ต้องเข้าร่วมกิจกรรมการรับน้องใหม่ด้วยเช่นเดียวกัน ยังจำได้ถึงบรรยากาศที่ถูกรุ่นพี่ว้าก การถูกแกล้งแบบขำๆจากรุ่นพี่ แต่ก็เป็นการรับน้องที่ไม่มีพฤติกรรมความรุนแรงหรือมีอะไรที่ส่อไปในทางอนาจารเลย ยังจำได้ว่าความรู้สึกตอนนั้นมีทั้งความสนุกและความอึดอัด แต่เมื่อมาถึงในวันนี้เมื่อมองย้อนกลับไปภาพความทรงจำเหล่านั้นก็ทำให้ยิ้มได้ทุกครั้ง

ผู้เขียนเชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงคิดเห็นเหมือนกันว่า กิจกรรมรับน้องใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยควรให้มีอยู่ต่อไป เพียงแต่ควรเป็นไปในลักษณะสร้างสรรค์ สนุกสนาน อบอุ่น น่ารัก เน้นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีงามระหว่างเพื่อนและรุ่นพี่รุ่นน้อง โดยหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงและอบายมุขทุกรูปแบบ และต้องอยู่ในกรอบของคุณธรรมจริยธรรมที่ดีงามของความเป็นไทยด้วย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น