xs
xsm
sm
md
lg

หมอจุฬาฯ ชี้ “กัญชา” ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็ง ไม่ชัวร์ปลดล็อกใช้ทางการแพทย์ เหตุมียาแก้ปวดอื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หมอจุฬาฯ ชี้ “กัญชา” ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็ง แต่ช่วยแก้ปวด คลื่นไส้ อาเจียน จากผลข้างเคียงของการรักษา ไม่ชัวร์ไทยจะอนุญาตให้ใช้ทางการแพทย์ หลังมีการเสวนากัญชาเสรี เหตุมียาแก้ปวด อื่นอีก ด้าน อย. เผยกัญชา - ใบกระท่อมไร้คืบ ระบุมีแต่ “กัญชง” หนุนเป็นพืชเศรษฐกิจ

รศ.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงกรณีงานเสวนาเสรีภาพกัญชาควรอยู่ตรงไหน ซึ่งมีการเสนอความคิดเห็นว่ากัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ น่าจะเปิดช่องให้มีการศึกษาวิจัย ว่า เท่าที่ทราบกัญชาไม่มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง หรือยับยั้งเซลล์มะเร็งโดยตรง แต่มีฤทธิ์ช่วยระงับอาการปวด คลื่นไส้อาเจียน ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ซึมเศร้า ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ารับการรักษามักมีอาการปวด คลื่นไส้อาเจียน ไม่เจริญอาหาร กัญชาจึงมีฤทธิ์ในการช่วยเรื่องเหล่านี้ ที่บอกว่ากัญชารักษามะเร็งจึงน่าจะเป็นการแปลความผิดมากกว่า สำหรับต่างประเทศมีการนำกัญชามาร่วมในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อลดอาการข้างเคียงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการรักษา อย่างสหรัฐอเมริกาก็อนุญาตให้นำสารเสพติดดังกล่าวมาใช้ในทางการแพทย์ได้เพียงไม่กี่รัฐ แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่อนุญาต และไม่แน่ใจว่าจะมีการปลดล็อกให้สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์หรือไม่ เพราะที่จริงแล้วหากจะระงับอาการปวด ป้องกันการคลื่นไส้อาเจียน ช่วยให้เจริญอาหารก็มียาอื่น ๆ ที่สามารถช่วยได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นกัญชา

ด้าน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า เรื่องกัญชามีการพูดกันมานานแล้ว ซึ่งต่างประเทศเองก็มีการศึกษาว่ารักษาโรค เช่น สหรัฐอเมริกา แต่ก็มีไม่กี่รัฐ ดังนั้น ในไทยหากจะมีก็ต้องมีการศึกษา แต่อยู่ที่นโยบายด้วย เพราะพืชที่จัดเป็นยาเสพติดจะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งจะมีหลายหน่วยงานมาช่วยดู โดย อย. จะดูในเรื่องของการอนุญาตให้ปลูกให้ผลิต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะดูในเรื่องเมล็ดพันธุ์ กระทรวงมหาดไทยจะดูในส่วนพื้นที่ปลูก ดังนั้น คงต้องพิจารณากันในคณะกรรมการยาเสพติดฯ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมา เคยการเสนอเรื่องใบกระท่อมในการพัฒนาเป็นยารักษาอาการปวด นพ.บุญชัย กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่มีความคืบหน้า โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ศึกษาเรื่องใบกระท่อม ซึ่งมาจากหลายหน่วยงาน ทั้ง อย. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม เป็นต้น แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีการประชุมว่าพิจารณาอย่างไร ส่วนที่ผ่านมามีเพียงแต่การพิจารณาเรื่องกัญชง ซึ่งเป็นพืชตระกูลเดียวกับกัญชา แต่พบว่ามีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง โดยมีเส้นใยที่เหนียวและสามารถนำมาทำเป็นสิ่งทอ และผ้าที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงนำไปใช้เป็นเครื่องสำอางบางชนิดได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพิจารณา และจัดทำเป็นร่างกฎกระทรวงขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ขณะนี้อยู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งหากผ่านก็จะประกาศใช้ในแง่ให้มีการปลูกเพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยจะมีการควบคุมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีการศึกษาอยู่ แต่ในพื้นที่เล็ก ๆ แต่หากมีร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ก็จะขยายการเพาะปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น