กรมอนามัย ชี้ ผู้สูงอายุล้มเสี่ยงเสียชีวิต แนะจัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้เหมาะสม มีแสงสว่างเพียงพอ พื้นราบเรียบ ห้องน้ำ บันได เตียงมีราวจับ ติดตั้งสัญญาณขอความช่วยเหลือไว้ในจุดต่าง ๆ ของบ้าน
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผู้สูงอายุหกล้ม หรือลื่นล้ม ถือเป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะนำมาซึ่งการบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตได้ โดยพบว่า การเสียการทรงตัวของร่างกายเป็นปัจจัยที่พบบ่อยที่สุด รองลงมา คือ อาการหน้ามืดวิงเวียน เป็นลม เนื่องจากเป็นวัยที่มีความเสื่อมของร่างกาย ได้แก่ สายตาพร่ามัว การทรงตัวและการเคลื่อนไหวที่ไม่มั่นคงจากการเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูก ข้อ รวมทั้งอาจพบอาการหลงลืม หรือสมองเสื่อมได้มากขึ้น นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอก ได้แก่ พื้นลื่น สะดุดสิ่งกีดขวาง พื้นต่างระดับ แสงสว่างในบ้านที่ไม่เพียงพอ ยังทำให้เกิดผู้สูงอายุลื่นล้มด้วย
“ความเสื่อมของร่างกายไม่สามารถแก้ไขได้ แต่การจัดสภาพแวดล้อมในบ้านสำหรับผู้สูงอายุเพื่อป้องกันการลื่นล้มสามารถแก้ไขได้ และเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะผู้สูงอายุใช้เวลาส่วนใหญ่ในบ้านพักอาศัย ดังนั้น การจัดสภาพแวดล้อมในบ้านที่เหมาะสมถือเป็นการป้องกัน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวและว่า หลักการจัดสภาพแวดล้อมในบ้านสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่ 1. พื้น ควรปรับให้เป็นพื้นเรียบ ไม่ขรุขระ และไม่ขัดมันจนลื่น โดยเฉพาะห้องน้ำ เพราะการเปียกลื่นทำให้เกิดอุบัติเหตุง่ายและรุนแรง ควรหมั่นทำความสะอาดไม่ให้มีคราบสบู่ หรือตะไคร่ตกค้างบนพื้น อาจนำแผ่นกันลื่นมาวางไว้ ทำราวเกาะไว้ยึดทรงตัว เปลี่ยนส่วนส้วมซึมเป็นแบบนั่งราบ เพราะส้วมซึมจะทำให้ลำบากและปวดในการงอเข่า เวลาลุกนั่งอาจเซหรือล้มได้ และบริเวณบ้านไม่ควรมีพื้นต่างระดับ เพราะอาจทำให้สะดุดหกล้ม
นพ.พรเทพ กล่าวว่า 2. บันได ควรติดตั้งราวจับ แต่ละขั้นควรมีความสูงเสมอกัน ไม่ชันมากจนเกินไป ไม่วางของกีดขวางทางเดิน ควรมีแสงสว่างเพียงพอตลอดแนวบันได ทั้งนี้ พบว่า ในต่างจังหวัดบันไดบ้านมักจะมีลักษณะแคบ สูงชัน และมีพื้นของบันไดที่ไม่เรียบเสมอกัน จึงมักทำให้ผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุพลัดตกลงมา ดังนั้น ควรเพิ่มความกว้างของช่องทางเดิน และขยายความกว้างของขั้นบันได หรือถ้าเป็นไปได้ควรให้ผู้สูงอายุพักอาศัยบริเวณชั้นล่าง 3. แสงสว่าง ต้องมีเพียงพอ โดยเฉพาะบันได ห้องน้ำ ประตู และทางเดิน สวิตช์ไฟอยู่ในตำแหน่งที่ผู้สูงอายุสามารถใช้ได้สะดวก 4. ไม่ควรมีธรณีประตู ประตูควรเป็นบานเลื่อน หรือประตูแบบเปิดออก เพื่อให้คนอื่นสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุหกล้ม 5. ห้องนอนควรจัดให้อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ร้อนอบอ้าวจนเกินไป มีแสงสว่างเพียงพอ ข้างเตียงมีราวจับ 6. เก้าอี้ ควรมีพนักพิง และมีความสูงในระดับที่สามารถวางเท้าถึงพื้นได้ และไม่ควรทำด้วยวัสดุที่หนักเกินไป และ 7. สัญญาณขอความช่วยเหลือ เป็นสิ่งจำเป็นที่ควรติดไว้ตามจุดต่าง ๆ ภายในบ้าน เพื่อให้มาช่วยเหลือได้ทัน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่