xs
xsm
sm
md
lg

จำกัดอายุใบจดแจ้งฯ 3 ปี คัด “เครื่องสำอางห่วย” จากตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กฎหมายเครื่องสำอางใหม่ยกเลิก “ใบจดแจ้งฯ” ใช้ได้ตลอดกาล ต้องต่ออายุ ทุก 3 ปี หวังคัดกรองเครื่องสำอางห่วยออกจากตลาด ชี้ผลิตภัณฑ์พัฒนาไว หากพบสารที่ใช้ไร้ประสิทธิภาพใช้เป็นเกณฑ์ไม่ต่อใบจดแจ้งฯ ได้ทันที

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และโฆษก อย.กล่าวว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอางฉบับใหม่ ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว เหลือแต่เพียงประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อรอการบังคับใช้เท่านั้น โดยกฎหมายฉบับใหม่จะมีการกำหนดให้ใบจดแจ้งเครื่องสำอางมีอายุได้เพียง 3 ปีเท่านั้น ต่างจากกฎหมายเดิมที่ไม่มีการกำหนดอายุใบจดแจ้งเครื่องสำอาง ทำให้สามารถใช้ใบจดแจ้งนั้นได้ไปตลอด ซึ่งการกำหนดอายุใบจดแจ้งเครื่องไว้ที่ 3 ปีนั้นจะเป็นการคัดกรองเครื่องสำอางที่ไม่ดี ไม่มีคุณภาพให้ออกไปจากตลาด จึงถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ออกมาใหม่เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

เครื่องสำอางนั้นมีวิวัฒนาการที่รวดเร็วมาก มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์มาโดยตลอด และจะมีการตรวจสอบประสิทธิภาพของเครื่องสำอางอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งหากมีงานวิจัยที่ออกมาพบว่า สารที่ใส่ในเครื่องสำอางประสิทธิภาพไม่ดีพอ หรือไม่มีคุณภาพพอ เช่น มีการวิจัยพบว่าสารที่ใส่ในครีมกันแดดไม่มีประสิทธิภาพที่จะใช้ในการกันแดดได้ดีเพียงพออีกต่อไป หากไม่มีการกำหนดอายุใบจดแจ้งเครื่องสำอาง ก็จะไม่สามารถเพิกถอนครีมกันแดดหรือเครื่องสำอางอื่นๆ ที่มีส่วนผสมของสารดังกล่าวได้ แต่เมื่อมีการกำหนดอายุใบจดแจ้งไว้ที่ 3 ปี เมื่อผู้ประกอบการต้องมาต่ออายุใบจดแจ้งเครื่องสำอางใหม่ ก็จะเป็นการกลั่นกรองโดยอัตโนมัติว่า เครื่องสำอางมีส่วนผสมที่ไม่มีประสิทธิภาพก็จะไม่ต่ออายุใบจดแจ้งอีก ถือเป็นการคัดกรองและนำเครื่องสำอางที่คุณภาพไม่ดีออกไปจากตลาด” รองเลขาธิการ อย.กล่าว

ภก.ประพนธ์กล่าวว่า สำหรับเครื่องสำอางที่ได้รับใบจดแจ้งไปก่อนที่จะมีการออกกฎหมายฉบับนี้ก็จะถูกกำหนดให้มีอายุเพียง 3 ปีเช่นกัน โดยจะเริ่มนับอายุของใบจดแจ้งตั้งแต่วันที่มีการบังคับใช้กฎหมาย ส่วนเครื่องสำอางที่ขอใบจดแจ้งใหม่จะมีอายุไปอีก 3 ปี นับจากวันที่ออกใบจดแจ้งให้ผู้ประกอบการ โดยเมื่อใบจดแจ้งหมดอายุก็ต้องกลับมาต่ออายุใบจดแจ้งที่ อย. นอกจากนี้ กฎหมายยังให้อำนาจในการเพิกถอนใบรับจดแจ้งเครื่องสำอางได้ กรณีที่เป็นเครื่องสำอางที่มีการผลิต หรือนำเข้าเครื่องสำอางไม่ตรงตามที่จดแจ้ง หรือเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ หรือกรณีที่ผู้จดแจ้งได้เปลี่ยน หรือเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของเครื่องสำอางนั้นไปเป็นวัตถุอื่น เช่น ยา อาหาร หรือ เครื่องมือแพทย์

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น