xs
xsm
sm
md
lg

สอศ.อัป 13 หลักสูตรตามมาตรฐานอาชีพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สอศ. อัป 13 สาขาวิชาเทียบเคียงมาตรฐานอาชีพ หวังการันตีคุณภาพการเรียนการสอนอาชีวะ จ่อหารือสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเปิดทางให้เด็กอาชีวะทดสอบฝีมือระหว่างเรียน เพื่อเด็กจบได้วุฒิ ปวส.- ใบรับรองมาตรฐานอาชีพ

วันนี้ (17 ส.ค.) นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ตามที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการจัดทำมาตรฐานอาชีพต่าง ๆ ซึ่งมีมากกว่า 13 มาตรฐานอาชีพแล้วนั้น ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จึงได้นำมาตรฐานอาชีพดังกล่าวมาวิเคราะห์ เทียบเคียง เพื่อปรับปรุงหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) พ.ศ. 2557 ใน 13 สาขาวิชา โดยดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว 9 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ (ธุรกิจดอกไม้และงานประดิษฐ์) สาขาวิชาการถ่ายภาพและวีดิทัศน์ การถ่ายภาพมัลติมีเดีย สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ (การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม) สาขาวิชาผ้าและเครื่องแต่งกาย (ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า) สาขาวิชาเสริมสวย/เทคโนโลยีความงาม (ช่างทำผม) สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ (เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและดิจิตอลคอนเทนต์) สาขาวิชารถไฟความเร็วสูงและระบบราง สาขาวิชาช่างกลโรงงาน/เทคนิคการผลิต (อุตสหกรรมการผลิตและแม่พิมพ์) และสาขาวิชาปิโตรเคมี (อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี)

ส่วนอีก 4 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ สาขาวิชาช่างพิมพ์/การพิมพ์ (อุตสาหกรรมการพิมพ์) สาขาเมคคาทรอนิกส์ (แมคคาทรอนิกส์) และสาขาวิชาช่างยนต์/เทคนิคเครื่องยนต์ (บริการยานยนต์) ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยจะเร่งให้แล้วเสร็จเพื่อเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2559

นายวณิชย์ อธิบายว่า การปรับหลักสูตรดังกล่าว เพื่อการันตีคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของอาชีวะ ว่า ได้มาตรฐาน พัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะตามที่กำหนดและเป็นไปตามมาตรฐานสากล และในอนาคตจะหารือให้สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเข้ามาร่วมจัดการทดสอบระหว่างเรียนไปในคราวเดียว เมื่อเด็กจบก็จะได้รับทั้งวุฒิการศึกษาและใบรับรองมาตรฐานอาชีพทันที โดยไม่ต้องสอบ เพราะปัจจุบันสถาบันคุณวุฒิฯก็ใช้พื้นที่ของวิทยาลัยในสังกัด สอศ. หลายแห่งเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานอาชีพอยู่แล้ว

นายวณิชย์ กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้หารือกับอธิบดีกรมทางหลวงชนบท ในการทำความร่วมมือในการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี เพื่อผลิตบุคคลกรที่มีความเชี่ยวชาญด้านในสาขาที่กรมทางหลวงขาดแคลน อาทิ ช่างโยธา ช่างเชื่อม ช่างสำรวจ ช่างเขียน ช่างก่อสร้าง ฯลฯ ซึ่งต่อไปจะหารือถึงความเป็นไปได้ ที่จะให้เด็กที่เรียนในระบบทวิภาคี กับกรมทางหลวงชนบทเมื่อเรียนจบแล้วมีงานทำทันที โดยอาจไม่ต้องทำงานกับกรมทางหลวงชนบททั้งหมด แต่อาจจะเป็นภาคเอกชนอื่น ๆ ที่มีความร่วมมือกับกรมทางหลาวงชนบท

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น