ตลาดนัดนวัตกรรมการแพทย์ไทย ชู “หุ่นยนต์เสริมพัฒนาการ” ช่วยเด็กออทิสติกมีความสนใจ ฝึกพูดดีขึ้น ลดพฤติกรรมไม่เหมาะสมลง เผยไทยเป็นประเทศแรกที่ทำหุ่นยนต์ฝึกพูด
รศ.ดร.ปัณรสี ฤทธิประวัติ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยผู้คิดค้น “หุ่นยนต์เสริมการกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติก” กล่าวว่า ผลงานดังกล่าวเป็นหนึ่งในผลงานที่จะนำเสนอในงาน “มหกรรมตลาดนัดนวัตกรรมการแพทย์ไทย ผลิตภัณฑ์จากแนวคิด สิ่งประดิษฐ์ด้านการแพทย์” โดยหุ่นยนต์ที่นำมาแสดงถือเป็นรุ่นที่ 4 ซึ่งพัฒนามาจากหุ่นยนต์ 3 ตัว คือ “หุ่นยนต์ช่างทำ” ที่เน้นฝึกการเลียนแบบท่าทาง “หุ่นยนต์ช่างพูด” และ “หุ่นยนต์ช่างคุย” ที่ช่วยกระตุ้นทักษะการพูดคุย โดยหุ่นยนต์รุ่นที่ 4 หรือ “หุ่นยนต์ฟ้าใส” นั้น สามารถทำได้แบบหุ่นยนต์ทั้งสามตัวก่อนหน้า เพื่อนำมาใช้ในการเรียนการสอนจริงในกลุ่มเด็กออทิสติก
รศ.ดร.ปัณรสี กล่าวว่า ความสามารถด้านการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของเด็กนั้น มีพื้นฐานจากความสามารถในการเลียนแบบ (Imitation) ของเด็กที่มักพบว่า มีความบกพร่องในเด็กออทิสติก ส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้เพื่อการสื่อสาร หรือตอบสนองต่อสังคม หุ่นยนต์ช่างทำ จึงถูกออกแบบเพื่อเสริมการบำบัดด้านการเลียนแบบให้แก่เด็ก โดยโปรแกรมถูกออกแบบเฉพาะเพื่อฝึกฝนการเลียนแบบให้แก่เด็กออทิสติกเท่านั้น สำหรับหุ่นยนต์ช่างพูดและหุ่นยนต์ช่างคุยจะเน้นด้านการฝึกพูด โดยหุ่นยนต์จะมีชุดคำที่ต้องการให้เด็กฝึก เมื่อผู้บำบัดเลือกชุดคำที่ต้องการแล้ว หุ่นยนต์จึงกล่าวเชิญชวนให้เด็กเล่นเกมฝึกพูด โดยเริ่มฝึกไปทีละคำ เมื่อเด็กสามารถพูดคำได้ถูกต้อง หุ่นยนต์จะกล่าวชื่นชมและเมื่อเด็กพูดไม่ถูกต้องหุ่นยนต์จะให้กำลังใจ โดยหุ่นยนต์สามารถตัดสินใจได้เองในการกล่าวชมหรือให้กำลังใจ
รศ.ดร.ปัณรสี กล่าวว่า การพัฒนาหุ่นยนต์แต่ละตัวจะเริ่มทดลองกับเด็กปกติก่อนแล้วจึงนำไปทดสอบกับเด็กออทิสติก โดยการทดลองแรกได้ศึกษาผ่านหุ่นยนต์ช่างทำ ซึ่งจะเน้นในเรื่องของสิ่งเร้าที่มีผลต่อความสนใจของเด็กออทิสติก และรูปแบบของการตอบสนองของเด็กออทิสติกที่มีต่อหุ่นยนต์ ต่อมาเป็นการทดลองเรื่องการเลียนแบบท่าทาง พบว่า มีแนวโน้มที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมด้านบวก ทั้งในด้านความสนใจ จดจ่อในกิจกรรม และมีแนวโน้มที่จะลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมลง ต่อมาจึงได้พัฒนาหุ่นยนต์สำหรับฝึกพูด โดยใช้ระยะเวลาการทดลอง 3 เดือน ฝึกอาทิตย์ละครั้ง พบว่า เด็กมีการเล่นเสียงเพิ่มมากขึ้น และเด็กบางคนมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นระหว่างการฝึก จนมาถึงหุ่นยนต์ฟ้าใสที่รวมทุกความสามารถของหุ่นยนต์ 3 ตัวแรก และถูกออกแบบให้เหมาะกับการใช้งานในสถานศึกษา และได้นำไปติดตั้งและอบรมให้คุณครูที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยใช้งานมากว่า 1 ปีแล้ว
“จากการติดตามพัฒนาเด็กออทิสติกที่ผ่านการกระตุ้นเสริมจากหุ่นยนต์ฟ้าใส โดยคุณครูประจำศูนย์การศึกษาพิเศษเป็นผู้ประเมิน ผลการใช้งานหุ่นยนต์ฟ้าใส พบว่า ช่วยให้เด็กมีความสนใจ จดจ่อในกิจกรรมการฝึกดีขึ้น มีเด็กที่พูดตามหุ่นยนต์ได้เพิ่มขึ้น และมีจำนวนเด็กที่แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมลดลง สำหรับหุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นนี้ได้ออกแบบเพื่อใช้ได้กับทั้งเด็ก low functioning และ high functioning แต่ต้องยอมรับว่าเด็กกลุ่มนี้มีความผิดปกติหลากหลายมาก จึงอาจไม่ตอบสนองกับเด็กในบางกลุ่ม เช่น กลุ่มที่ไม่มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าใด ๆ เลย หรือเด็กบางคนมีภาวะกลัว ก่อนการฝึกกับหุ่นยนต์ได้จำเป็นต้องค่อย ๆ ปรับพฤติกรรม สร้างความคุ้นชิน กว่าจะเริ่มฝึกได้” ดร.ปัณรสี กล่าว
ดร.ปัณรสี กล่าวต่อว่า หุ่นยนต์เสริมการกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติกที่ได้พัฒนาขึ้นนี้ แม้ว่าในต่างประเทศจะมีการพัฒนานวัตกรรมนี้มากว่า 10 ปีแล้ว แต่มักเน้นที่การเลียนแบบท่าทาง ส่วนการพัฒนาหุ่นยนต์ที่เน้นด้านการฝึกพูดจริง ๆ จัง ๆ นั้น ไทยถือเป็นประเทศแรกที่ทำในด้านนี้ ทั้งนี้ ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยที่ได้ประดิษฐนวัตกรรมนี้ รู้สึกภูมิใจที่ได้พัฒนาคิดค้นงานที่มีคุณประโยชน์ให้กับเด็กออทิสติก และอยากให้เกิดการต่อยอดโดยการกระจายให้เกิดการใช้งานหุ่นยนต์ไปตามโรงเรียน สถานศึกษาต่าง ๆ หรือปรับให้สามารถใช้ตามบ้านได้ต่อไป
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่