สธ. เตรียมทีมบุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ร่วมกิจกรรม “Bike For Mom” กว่า 200 ทีม เผยมีพยาบาลประจำจุดทุก 100 เมตร คู่ตำรวจ มีชุดจักรยานแพทย์เคลื่อนที่เร็วช่วยประเมินอาการผู้ป่วย สั่งดูแลกิจกรรมต่างจังหวัดด้วย แนะสังเกตอาการเสียเหงื่อมากเกินไป พร้อมเตรียมมะขามป้อมหมักน้ำผึ้งแจกจุดเริ่มต้น 10,000 ชุด ช่วยชุ่มคอ ไม่กระหายน้ำ
วันนี้ (13 ส.ค.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ. ได้รับมอบหมายให้จัดบริการการแพทย์และสาธารณสุขแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ “Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่” ในวันที่ 16 ส.ค. นี้ เพื่อดูแลสุขภาพผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้ดีที่สุดและรวดเร็ว มีการปฐมพยาบาลและประเมินอาการก่อนส่งต่อสถานพยาบาลดูแล ทั้งอุบัติเหตุและการเจ็บป่วย
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า สำหรับการเตรียมพร้อมบริการทางการแพทย์ในการจัดกิจกรรมในต่างจังหวัดนั้น ได้มอบหมายให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็นผู้บัญชาการประสานความร่วมมือกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป โดยพื้นที่ของจุดพักใหญ่จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลทางการแพทย์ชั้นสูงประจำทุกจุด และมีทีมจักรยานเคลื่อนที่เร็วที่เป็นทีมแพทย์ขั้นพื้นฐานปั่นพร้อมขบวนด้วย ทั้งนี้ จากการฝึกซ้อมที่ผ่านมา พบข้อกังวลในเรื่องความเจ็บป่วยส่วนตัวของผู้ที่ปั่นจักรยาน เพราะเป็นผู้สูงอายุ ร่างกายไม่มีความพร้อมที่เพียงพอ และความไม่พร้อมของจักรยาน เป็นต้น
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า พื้นที่ กทม. มีการจัดทีมเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ รวม 200 ทีม เจ้าหน้าที่จำนวน 1,200 คน มีทั้งทีมแพทย์ประจำพระองค์ ทีมจากกรมการแพทย์ กทม. มหาวิทยาลัย รพ.เอกชน และมูลนิธิ มีกองบัญชาการร่วมอยู่ที่กองทัพภาคที่ 1 การดำเนินการแบ่งได้ ดังนี้ 1. แพทย์ประจำจุด ประกอบด้วย จุดเริ่มต้นที่ลานพระราชวังดุสิตและสนามเสือป่า จุดพักคอย สนามกีฬากองทัพบกและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจุดปลายทาง กรมทหารราบที่ 11 2. แพทย์ประจำจุดบริการในเส้นทาง 57 ทีม ปฏิบัติภารกิจร่วมกับทีมทหาร ณ จุดตำบลส่งกำลังบำรุง 11 จุด ร่วมกับตำรวจที่กำหนดพื้นที่ทำงานเป็น 21 โซน 3. ชุดจักรยานแพทย์เคลื่อนที่ ประกอบด้วย ชุดติดตามขบวนตลอดเส้นทาง และชุดเคลื่อนที่เร็วระหว่างเส้นทางขบวน และ 4. โรงพยาบาลเพื่อรับส่งต่อ นอกจากนี้ ทุก 100 เมตร จะมีพยาบาลยื่นคู่กับตำรวจ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย หากมีผู้ป่วยก็จะมีทีมแพทย์จักรยานเข้าประเมินอาการว่าจำเป็นต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลหรือไม่ ซึ่งจะมีรถพยาบาลประจำจุดต่าง ๆ โดยได้ประสานทุก รพ. ตลอดเส้นทางปั่นจักรยานให้เตรียมพร้อมช่วยเหลือผู้ป่วยกรณีเกิดเหตุรุนแรง
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมก่อนปั่นจักรยาน คือ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานก่อนการปั่นอย่างน้อย 2 ชั่วโมง อบอุ่นร่างกายอย่างน้อย 5 - 10 นาที ก่อนปั่นจักรยาน หากมีโรคประจำตัวควรเตรียมยาพกติดตัวตลอด และตรวจเช็กจักรยานให้พร้อม ส่วนการปฏิบัติตัวขณะปั่นในช่วงที่มีอาการร้อน เสื้อผ้าที่สวมใส่ต้องไม่รุ่มร่าม ระบายอากาศได้ดี รองเท้าต้องกระชับ และเตรียมน้ำดื่ม 1 ขวด พร้อมผงเกลือแร่ 1 ถุง เพราะการปั่นจักรยานอาจทำให้เสียเหงื่อได้ จิบน้ำบ่อย ๆ ทุก 15 - 30 นาที นำผ้าชุบน้ำมาเช็ดตัว จะช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ดีขึ้น และควรสวมแว่นกันแดด ช่วยลดแสงกระจายและความจ้าเข้าสู่ดวงตา ทั้งนี้ หากมีอาการเพลีย ไม่มีแรง ปากแห้ง น้ำลายเหนียว และกระหายน้ำ เป็นข้อสังเกตว่าร่างกายเสียเหงื่อมากเกินไป
พญ.อัญชลี ไชยสัจ ผู้ช่วยอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมฯ สนับสนุนกิจกรรมด้วยการเตรียมมะขามป้อมหมักน้ำผึ้งนาน 6 เดือน ซึ่งจะช่วยให้มีความชุ่มคอ ไม่กระหายน้ำ แจกให้กับนักปั่นที่ออกจากจุดเริ่มต้น จำนวน 10,000 ชุด จัดน้ำดื่มผสมน้ำยาอุทัยทิพย์ตำรับโบราณในจุดปฐมพยาบาล และจุดสิ้นสุด และแจกยาดมตำรับเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จำนวน 1,000 หลอด ให้บริการในจุดปฐมพยาบาลของกรมการแพทย์ด้วย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่