สธ. ประสาน อปท. ผู้ประกอบการท่องเที่ยวตั้งจุดวางน้ำส้มสายชู กล่องปฐมพยาบาลริมหาด ช่วยผู้ถูกพิษแมงกะพรุน พร้อมติดตั้งตาข่ายกันแมงกะพรุน 67 จุด ใน 9 จังหวัด
วันนี้ (3 ส.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา พบนักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บจากแมงกะพรุนพิษขณะเล่นน้ำทะเล เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจำนวนกว่า 900 ราย มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ในจำนวนนี้เสียชีวิต 12 ราย แม้จำนวนผู้เสียชีวิตจะไม่มาก แต่มีความเป็นห่วงประชาชนและนักท่องเที่ยว อาจได้รับบาดเจ็บได้ จึงมอบหมายให้สำนักระบาดวิทยา คร. ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกันรณรงค์ให้ความรู้ในการเฝ้าระวัง การวินิจฉัย และการรักษาผู้บาดเจ็บจากพิษแมงกะพรุน ทั้งนี้ ชายทะเลไทยทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน พบทั้งแมงกะพรุนที่ไม่มีพิษ หรือมีพิษน้อย เช่น แมงกะพรุนหนัง แมงกะพรุนลอดช่อง และแมงกะพรุนไฟ ที่ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณที่ถูกสัมผัส ส่วนแมงกะพรุนที่มีพิษร้ายแรง ได้แก่ แมงกะพรุนกล่อง ซึ่งมีหลายชนิด มีรูปร่างคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมใส มีสีน้ำเงินจาง ๆ หรือไม่มีสี จึงสังเกตได้ยากเมื่ออยู่น้ำทะเล มีขนาดแตกต่างกัน อาจกว้างได้ถึง 20 เซนติเมตร แต่ละมุมจะมีคล้ายขายื่นออกมาแล้วแยกออกเป็นสายหนวด โดยแต่ละขาอาจมีหนวดยาวตั้งแต่ 1 - 15 เส้น แต่ละเส้นยาวได้ถึง 3 เมตร โดยจะมีเข็มพิษอยู่ในถุงพิษที่กระจายอยู่ทุกส่วนของแมงกะพรุนกล่อง โดยเฉพาะที่หนวด
นพ.โสภณ กล่าวว่า ผู้ที่ถูกแมงกะพรุนชนิดนี้ จะเจ็บปวดบริเวณที่ถูกสัมผัสอย่างรุนแรงทันทีทันใด เกิดรอยไหม้ที่ผิวหนัง หากได้รับพิษจำนวนมาก จะมีอาการสับสน หมดความรู้สึก โคม่า และเสียชีวิต ซึ่งมักเกิดภายใน 10 นาที เนื่องจากพิษมีผลต่อหัวใจ ทำให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้ภายใน 2 - 3 นาที มีพิษต่อระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต และหยุดหายใจ และมีพิษต่อผิวหนัง ขณะนี้สำนักระบาดวิทยา และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ร่วมมือในการศึกษาการแพร่กระจายและเฝ้าระวังการระบาดของแมงกะพรุนพิษ รวมถึงการให้ความรู้เพิ่มเติมกับแพทย์ฉุกเฉินและนักชีววิทยาด้วย และจัดระบบเฝ้าระวังติดตามพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะฝั่งทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ขอความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ประกอบการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ติดตั้งจุดวางน้ำส้มสายชู และกล่องปฐมพยาบาล บริเวณริมหาด เพื่อใช้ยับยั้งพิษของแมงกะพรุน และติดตั้งตาข่ายกันแมงกะพรุนในบางพื้นที่ ขณะนี้ได้จัดตั้งจุดปฐมพยาบาลแมงกะพรุนพิษ ประมาณ 67 จุด ใน 9 จังหวัด เช่น ระนอง ตราด ระยอง พังงา ตรัง ภูเก็ต กระบี่ สตูล และจันทบุรี
“ การป้องกันแมงกะพรุนพิษ ขอให้ประชาชนสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด เช่น แขนยาว ขายาวแนบตัวขณะลงเล่นน้ำทะเล ไม่ควรเล่นน้ำนอกตาข่ายในทะเล หากสัมผัสแมงกะพรุนพิษ ให้รีบขึ้นจากน้ำ แล้วใช้ส้มสายชู ราดให้ทั่วบริเวณที่สัมผัสเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วินาที ฤทธิ์ของน้ำส้มสายชูจะทำลายพิษจากถุงพิษที่ยังไม่ออกฤทธิ์ หากหาน้ำส้มสายชูไม่ได้ อาจใช้น้ำอัดลมแทนได้ แต่ประสิทธิภาพจะไม่ดีเท่ากับน้ำส้มสายชู ห้ามขัดถูบริเวณที่ถูกแมงกะพรุนโดยเด็ดขาด และโทร. เรียกรถพยาบาล ไม่ควรให้ผู้ป่วยขยับตัว เพื่อป้องกันการกระทบแผล ” อธิบดี คร. กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่