กรมอนามัย เผยช่วง “งานบุญ” พบป่วยท้องร่วง - อาหารเป็นพิษสูง เหตุจัดเตรียมอาหารมาก ภาคเหนือ - อีสาน สุดเสี่ยง นิยมเมนูพล่า ยำ ลาบ ก้อย เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด กึ่งสุกกึ่งดิบ แนะปรุงสุก สะอาด สกัดโรค
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงเทศกาลงานบุญประชาชนจะมีการทำอาหารแจกจ่ายคนในงาน โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสานที่นิยมอาหาร เช่น พล่า ยำ ลาบ ก้อย ซึ่งมักจะปรุงแบบสุก ๆ ดิบ ๆ และเน้นรสชาติที่เผ็ดจัด หรือเปรี้ยวจัด ซึ่งในงานบุญส่วนใหญ่มีการจัดเตรียมอาหารล่วงหน้าในปริมาณมาก ทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อโรค 3 ชนิด ได้แก่ Staphylococcus aureus หรือเชื้อโรคจากแผล ฝีหนอง Vibrio Parahaemolyticus หรือเชื้อโรคที่พบในอาหารทะเล และ Salmonella หรือเชื้อไทฟอยด์ อาการสำคัญที่พบประจำ คือ ปวดท้อง ท้องเสีย หรืออาจจะมีอาเจียน ร่วมด้วย โดยสามารถป้องกันได้ง่าย ๆ ด้วยการปรุงอาหารให้สุกอย่างทั่วถึงด้วยความร้อน
นพ.พรเทพ กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 27 ก.ค. 2558 พบว่า มีผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง 614,864 ราย เสียชีวิต 6 ราย โดยภาคเหนือมีอัตราการป่วยสูงสุด นอกจากนี้ ยังพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 74,290 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราการป่วยสูงสุด ส่วนใหญ่พบได้บ่อยในสถานศึกษา ค่ายทัศนศึกษา งานบุญ งานประเพณีต่าง ๆ ดังนั้น ผู้ปรุงประกอบอาหารควรมีการปรุงอาหารให้สุกอย่างทั่วถึงด้วยความร้อน โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ต้องสุกเท่านั้น รสชาติไม่เผ็ดจัด หรือเปรี้ยวจัดจนเกินไป หากเป็นขนมจีนควรซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่น่าเชื่อถือได้ และควรนำเส้นขนมจีนมานึ่งอีกครั้งก่อนจะนำมารับประทาน ผู้ปรุงประกอบอาหารทุกท่านต้องมีสุขวิทยาส่วนบุคคลที่ดี สวมผ้ากันเปื้อนใส่หมวกคลุมผม เล็บสั้น ใช้ถุงมือ หรือภาชนะอุปกรณ์ในการหยิบจับอาหาร หากมีบาดแผลต้องปิดพลาสเตอร์ให้มิดชิด
“อาหารที่ปรุงประกอบเสร็จแล้ว หากยังไม่รับประทานทันที ควรใส่ในภาชนะที่สะอาด ปลอดภัย มีการปกปิด วางสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร หากเก็บไว้นานเกิน 4 ชั่วโมง ควรนำมาอุ่นให้เดือดก่อนนำมารับประทาน ส่วนอาหารที่ไม่สามารถอุ่นได้ เช่น ยำ พล่า ควรปรุง ประกอบในปริมาณเท่าที่จะรับประทานเท่านั้น ไม่ควรทำทิ้งไว้นาน ๆ สิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ อาหารที่มีกะทิ นม และไข่เป็นส่วนประกอบ ไม่ควรทำไว้ล่วงหน้านานเกิน 4 ชั่วโมง เพราะจะทำให้อาหารบูดเสียได้ง่ายและควรเก็บรักษาในตู้เย็น หรือถังน้ำแข็งที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 5 องศาเซลเซียส หากพบมีลักษณะที่เปลี่ยนไป เช่น มีฟองอากาศ กลิ่นเหม็นบูด รสชาติเปรี้ยว ไม่ควรนำมารับประทาน ส่วนน้ำดื่มควรต้มสุก หรือดื่มน้ำที่บรรจุขวดที่ได้มาตรฐานน้ำบริโภค น้ำแข็งต้องเป็นน้ำแข็งที่ผลิตเพื่อการบริโภคและได้มาตรฐานรับรองเท่านั้น นอกจากนี้ หากรับประทานอาหารร่วมกันควรใช้ช้อนกลางและก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องส้วมต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทุกครั้งเพื่อลดสื่อนำโรคติดต่อจากอาหารและน้ำ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่