“วิษณุ” ระบุปัญหาการใช้ภาษาไทยมีมาเนิ่นนาน เตือนคนไทยใช้ให้ถูกต้อง หวั่นสื่อสารไม่ตรงกันเกิดบานปลายกลายเป็นปัญหาการเมืองการปกครอง และความมั่นคงของประเทศ
วันนี้ (29 ก.ค.) ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดกิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มอบรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ประจำปี 2558 หลังจากนั้น นายวิษณุ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ว่า วันภาษาไทยแห่งชาติ ก่อกำเนิดขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญ ในปี 2505 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินส่วนพระองค์ไปคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทรงร่วมอภิปรายทางวิชาการกับคณะผู้ทรงคุณวุฒิ แสดงถึงความสนพระราชหฤทัย ในประเด็นปัญหาการใช้ภาษาไทย และการใช้ถ้อยคำภาษาไทย จากพระราชดำรัสในงานอภิปราย เปรียบเสมือนน้ำทิพย์นำความชุ่มชื่นให้คนไทยทั้งประเทศ เกิดความตื่นตัวที่ยิ่งใหญ่ ต่อครูภาษาไทย นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนผู้ที่อยู่ในวงการภาษา มีความเห็นตรงกันว่าภาษาไทย เป็นภาษาชาติ เป็นเครื่องมือสื่อสารที่ควรจะต้องบำรุง รักษา หวงแหน เพื่อให้มีการนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง และเกิดประโยชน์
นายวิษณุ กล่าวว่า วันภาษาไทยแห่งชาติของทุกปี จึงเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และ พระบรมราชปณิธาน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งคนไทยควรจะต้องรู้จักใช้ภาษาพูดและภาษาเขียนให้ถูกต้องตามกฎระเบียบที่พึงเป็น หากไม่มีการสกัดกั้นภาษาให้อยู่ในกรอบแบบแผน วันหนึ่งก็จะเกิดความอับจนถ้อยคำทางภาษา เกิดความฟุ้งเฟื้อ จนกระทั่งแตกสาขาพลิกแพลงออกไปทำให้เกิดการใช้ภาษาพูดที่ผิด การอ่านที่เพี้ยน ภาษาเขียนที่พิสดาร และหากมีคนกลุ่มหนึ่งสร้างกฎระเบียบแบบใหม่ขึ้นมา โดยคิดประดิษฐ์ถ้อยคำภาษา สับแสงต่าง ๆ ตามกระแสโลกาภิวัตน์ กระแสเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลง และเทคโนโลยีการสื่อสารที่จู่โจมโถมเข้ามาอย่างรวดเร็ว ในที่สุดสังคมก็จะเกิดปัญหาความแตกแยกในทางภาษา พูดจากันต่างอ้างว่าใช้ภาษาไทย แต่จริง ๆ แล้วสื่อสารกันไม่ได้ ทุกวันนี้ก็เริ่มมีเค้าแล้ว เพียงแต่จำกัดอยู่ในแวดวงแคบ ๆ ที่รู้ว่าสนุกสนานดีเท่านั้น แต่ถ้าวันหนึ่งปัญหานั้นกลายเป็นกฎระเบียบของสังคม ก็น่าจะส่งผลกระทบต่อการเมืองการปกครอง และความมั่นคงของประเทศได้ในระยะยาว ด้วยเหตุนี้เอง ผู้หลักผู้ใหญ่จึงได้ตักเตือน ให้อนุรักษ์ พัฒนา และเปิดใจในสิ่งที่ควร และยึดกฎระเบียบ ในสิ่งที่จำเป็นต้องมีแบบแผน
“ปัญหาการใช้ภาษาไทย คือ การใช้คำภาษาต่างประเทศมาปะปนโดยไม่จำเป็น ใช้ด้วยความสนุกสนาน เพื่อความเท่ เก๋ และสะใจ และที่ถือเป็นปัญหาใหม่คือปัญหาการประดิษฐ์คิดคำขึ้นใช้กันเอง เริ่มแรกใช้กันอยู่เฉพาะวงการสังคมออนไลน์ แต่ทุกวันนี้ใช้ผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย แม้แต่ในเอกสารราชการและการทำบันทึกประจำวันของตำรวจ ถ้าหากไม่มีการเตือนกันก็จะเห็นคำเหล่านี้กลายเป็นความถูกต้องขึ้นมา และถ้าปล่อยไปมาก ๆ จนคนพูดกันไม่รู้เรื่องก็จะกลายเป็นเรื่องการเมืองแน่นอน เหมือนทุกวันนี้ที่คนกรุงกับคน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่พูดกันไม่รู้เรื่อง ก็ถือเป็นปัญหาการเมืองการปกครองอย่างหนึ่ง”นายวิษณุ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่