xs
xsm
sm
md
lg

สอนลูกเรื่องคุณค่าของน้ำผ่านภัยแล้ง/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ช่วงนี้ปัญหาภัยแล้งกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้คนเริ่มวิตกกันว่ามันไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว หลายพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำไม่สามารถทำการเกษตรได้ และหลายพื้นที่เริ่มขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคบ้างแล้ว

ความตื่นตัวกับตื่นตระหนกมีความแตกต่างกัน เพราะก่อนที่จะนำไปสู่การตื่นตระหนก ถ้าเรามีการตื่นตัวกันก่อน ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่ต้องมาตื่นตระหนกในภายหลัง

ปัญหาเรื่องภัยแล้งเป็นเรื่องที่มีการคาดการณ์ว่าเราจะเดินมาถึงจุดนี้แน่นอน อยู่ที่ช้าหรือเร็ว และไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของภัยธรรมชาติหรือน้ำมือของมนุษย์ แต่ประเด็นที่สำคัญ ก็คือ เราไม่ได้สร้างการตระหนักให้ผู้คนได้เห็นความสำคัญของการใช้น้ำอย่างรู้จักคุณค่า

ในอดีตเรายังมีการพูดกันถึงเรื่องการประหยัดอดออม การประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ ประหยัดเงิน ประหยัดน้ำมัน ฯลฯ แต่ดูเหมือนสภาพสังคมในยุคปัจจุบันไม่ค่อยได้สนใจในเรื่องนี้เท่าที่ควร เราปล่อยให้ความอยากมี อยากได้ อยากเป็น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของวัตถุ เรื่องของความสะดวกสบาย เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตกันอย่างมากมาย

ใช่หรือไม่..ผู้คนยุคนี้จำนวนมากมีวิธีคิดว่าใช้น้ำใช้ไฟมากแค่ไหนก็มีเงินจ่ายนี่ !

จำได้ไหม..เราใช้น้ำในช่วงสงกรานต์กันอย่างสาดเสียเทเสียเพื่อความสนุกสนานไม่กี่วัน
จำได้ไหม..เราเปิดน้ำทิ้งขณะแปรงฟันโดยไม่สนใจ
จำได้ไหม..เราอาบน้ำด้วยฝักบัวเกือบชั่วโมงทุกครั้ง
ฯลฯ

เราใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคโดยไม่ได้คิดถึงวันหน้ากันมาโดยตลอด

แต่พอเกิดปัญหาเรื่องภัยแล้งขึ้นมา ทำให้ผู้คนเริ่มตระหนกและเริ่มมีการรณรงค์ให้ประหยัดน้ำกินน้ำใช้กันแล้ว
เรื่องภัยแล้งครั้งนี้สอนเราได้มากมาย และน่าจะนำมาเป็นบทเรียนในครอบครัว เพื่อพูดคุยถึงเรื่องคุณค่าของน้ำกันอย่างจริงจังได้แล้วจริง ๆ ค่ะ เพราะที่ผ่านมา เรามักลืมประเด็นเรื่องการประหยัด จนกว่าภัยนั้นมักมาถึงตัวเสมอ
ทั้งที่จริงแล้วการสร้างนิสัยประหยัดให้กับลูกควรทำโดยตลอด และต้องทำตั้งแต่เล็ก อ้อ..ต้องเริ่มจากพ่อแม่ก่อนด้วยนะคะ

ว่าแล้วก็ถือโอกาสชวนลูกพูดคุยเรื่องคุณค่าของน้ำผ่านภัยแล้งกันเถอะค่ะ

หนึ่ง เห็นคุณค่าของน้ำ
เริ่มจากสอนลูกให้เห็นคุณค่าของน้ำ อาจจะลองสมมติให้เขาลองคิดถึงน้ำในแง่มุมต่าง ๆ เช่น เราต้องดื่มน้ำวันละกี่แก้ว ถ้าไม่ดื่มน้ำจะเป็นอย่างไร ลองตั้งโจทย์ให้ลูกเห็นว่าถ้าไม่มีน้ำ ชีวิตจะเป็นอย่างไร เพื่อให้เขามองเห็นว่า น้ำมีความสำคัญอย่างไร

สอง ใช้น้ำให้พอดี
ในชีวิตประจำวัน ลูกต้องใช้น้ำทำอะไรบ้าง ต้องดื่มต้องใช้ เวลาใช้ควรใช้แค่ไหน ให้ลูกได้รู้ว่ามีมิเตอร์น้ำ ทุกครั้งที่เราใช้น้ำ เราต้องเสียเงินจ่ายค่าน้ำ ยิ่งใช้มากก็ต้องจ่ายเงินมาก เพราะมีเด็กจำนวนไม่น้อย ไม่เคยรู้เลยว่าการใช้น้ำนั้นต้องเสียเงินด้วย เพื่อให้เขาได้เห็นภาพว่าน้ำเป็นค่าใช้จ่ายของครอบครัว เพราะฉะนั้น จะใช้ก็ต้องให้พอเหมาะ ไม่ใช้ทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ หรือถ้าใช้ก๊อกน้ำก็ต้องปิดให้สนิท ขณะที่แปรงฟันก็รองน้ำเอาไว้ ไม่ควรเปิดน้ำทิ้ง

สาม ใส่ใจเพิ่มขึ้น
เรื่องเล็กๆ ที่มักถูกมองข้ามเสมอ ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่มหรือน้ำใช้ เช่น เวลาจะดื่มน้ำ เราควรรินใส่แก้วเท่าที่เราจะดื่ม แล้วควรดื่มให้หมด หรือแม้แต่ซื้อน้ำขวด เราก็มักดื่มไม่หมด แล้วก็ทิ้งไป ทั้งที่ถ้าเราใส่ใจสักนิดและคิดสักหน่อยว่าเราจะดื่มน้ำแค่ไหน เรามากันกี่คน แล้วควรจะซื้อน้ำกี่ขวด แต่ทุกวันนี้เรามองว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญ ไม่ค่อยได้ใส่ใจรายละเอียดเท่าไร

แม้แต่เรื่องน้ำแข็ง เวลาเราเข้าร้านอาหาร บรรดาพนักงานมักมีถังน้ำแข็งมาให้ลูกค้าเสมอ ทั้งที่จริงแล้วบางทีน้ำก็เย็นอยู่แล้ว หรือไม่เราก็ใช้น้ำแข็งไม่หมดถัง ก็เท่ากับเรามีส่วนต่อการใช้พลังงานที่สิ้นเปลืองมาก เพราะกว่าที่น้ำจะเป็นน้ำแข็งก็ต้องใช้ไฟฟ้า จากนั้นเมื่อน้ำแข็งละลายก็กลายเป็นน้ำ เราสูญเสียพลังงานกับเรื่องน้ำแข็งเป็นถังไปเปล่า ๆ มากมาย

สี่ เรียนรู้เรื่องแหล่งน้ำ
การสอนให้ลูกได้เรียนรู้ถึงแหล่งน้ำ หรือต้นน้ำลำธาร หรือเรื่องป่าไม้ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ให้ลูกได้เรียนรู้ว่า ที่เกิดปัญหาเรื่องภัยแล้งส่วนหนึ่งเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ ตั้งแต่เรื่องการตัดไม้ทำลายป่า การบริหารจัดการน้ำที่ไร้ประสิทธิภาพ และเมื่อเกิดปัญหานี้ขึ้นมา ผลกระทบมันเป็นอย่างไร ก็ถือโอกาสให้ลูกได้เห็นสภาพจริงจากข้อมูลข่าวสารด้วยก็ได้

ห้า พูดคุยตรง ๆ
ถ้าลูกโตพอ พ่อแม่ควรจะพูดคุยเรื่องการใช้จ่ายเงินภายในครัวเรือนให้ลูกได้รับรู้ด้วย อย่างเช่นในภาวะเศรษฐกิจยุคที่ข้าวของแพง ก็ควรพูดคุยกับลูกตรงไปตรงมาว่า ต้องช่วยกันสร้างนิสัยที่ประหยัดอดออมในทุกเรื่อง ไม่ใช่เพียงเรื่องน้ำ แต่เป็นเรื่องอื่นๆในชีวิตด้วย เป็นการปลูกฝังให้ลูกมีนิสัยในการเห็นคุณค่าของทุกสิ่งอย่างรอบตัวด้วย

แต่..ทั้งหมดทั้งสิ้นทั้งปวง ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองไม่เป็นแบบอย่างที่ดี ก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จค่ะ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น