จักษุแพทย์เตือนซ้ำอีก ฉีดฟิลเลอร์เสี่ยงตาบอด หลังพบตัวเลขผู้ป่วยอาจเพิ่มขึ้น ขณะที่แพทย์ผิวหนังชี้ผลกระทบทำให้ผิวหนังอักเสบ เน่า เกิดแผลเป็น เสียโฉมได้ แนะเลือดแพทย์ที่มีความชำนาญ
นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากราชวิทยาลัยฯ ร่วมกับสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประทศไทย ออกมาเตือนภัยการฉีดฟิลเลอร์เพื่อความงามอาจทำให้ตาบอด หรือเกิดผลกระทบต่อผิวหนังได้ ทำให้มีผู้ป่วยจากภาวะดังกล่าวลดน้อยลง แต่ช่วง 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา กลับเริ่มพบผู้ป่วยจากการฉีดฟิลเลอร์ประมาณ 2 - 3 ราย ทำให้กังวลว่าตัวเลขผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอีก จึงอยากเตือนประชาชนว่า หากต้องการฉีดฟิลเลอร์เพื่อเสริมความงาม ต้องทำใจยอมรับว่า มีโอกาสเสี่ยงผลกระทบทำให้ตาบอดได้ ยิ่งเป็นหมอเถื่อนโอกาสเสี่ยงก็ยิ่งสูง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ตาบอด เพราะเส้นเลือดบนใบหน้ามีการเชื่อมต่อกับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงตาและสมอง หากสารฟิลเลอร์หลุดเข้าไปในกระแสเลือดก็จะเกิดการอุดตันของเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงดวงตา ทำให้ขั้วประสาทตาขาดเลือด สูญเสียการมองเห็นถึงขั้นตาบอด หลายรายเกิดภาวะบอดคาเข็ม
“แม้ข้อมูลทางห้องปฏิบัติการจะระบุว่า จอประสาทตาจะขาดเลือดได้ไม่เกิน 90 นาที ไม่เช่นนั้นจะตาบอดถาวร แต่ในความเป็นจริงหลายรายพบว่า 2 - 3 ชั่วโมง ก็ทำให้ตาบอดได้เช่นกัน ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยฯ ได้เปิดเพจ “สุขภาพตา โดยราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย” ในเฟซบุ๊ก เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับดวงตาด้วย” นพ.ไพศาล กล่าว
นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้ใช้ฟิลเลอร์ในการเสริมความงาม คือ ไฮยาลูโรนิค แอซิด ซึ่งส่วนใหญ่จะนำมาใช้เติมเต็มแผลที่เป็นหลุมจากสิว หรือแผลจากอีสุกอีใส รวมถึงลดริ้วรอย ทำให้ใบหน้าเต่งตึงควบคู่กับการฉีดโบท็อกซ์ ปัญหาคือหากฉีดบริเวณจุดเสี่ยง อย่างใกล้ ๆ ดวงตา หรือรอบ ๆ จมูก มีโอกาสเสี่ยงตาบอดได้ เพราะหากฉีดมากเกินไปหรือฉีดถูกหลอดเลือดย่อมก่อให้เกิดการอุดตัน และส่งผลต่อดวงตา รวมทั้งบริเวณผิวหนังอาจทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ เน่า กลายเป็นแผลเป็น และเสียโฉมในที่สุด รวมไปถึงหากใช้สารฟิลเลอร์ไม่ดีอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย
“ก่อนฉีดฟิลเลอร์ต้องศึกษาให้ดีว่ามีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง และมีโอกาสกระทบกับดวงตามากน้อยแค่ไหน รวมทั้งต้องเลือกแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง พิจารณาว่ามีใบประกอบโรคศิลปะหรือไม่ ได้รับการรับรองจากแพทยสภาหรือไม่ ซึ่งสามารถเข้าไปดูรายชื่อแพทย์ได้ในเว็บไซต์ของสมาคมโรคผิวหนังฯ www.dst.or.th ที่อยากฝากไว้คือ การฉีดฟิลเลอร์ในบางรายต้องพิจารณาให้ดี ๆ กรณีฉีดเพื่อเติมเต็มเนื้อบริเวณสันจมูก ให้ดูเหมือนมีดั้งโด่ง จริง ๆ แล้ว การฉีดฟิลเลอร์ไม่ถาวร เพราะต้องฉีดซ้ำประมาณ 1 ปี ดังนั้น หากพิจารณาแล้วการศัลยกรรมจมูกอาจคุ้มกว่าหรือไม่ ก็ต้องเลือกให้เหมาะสม” นพ.นพดล กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่