xs
xsm
sm
md
lg

โรคปอดอักเสบในเด็กภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...พญ.สมฤดี ชัยวีระวัฒนะ กุมารแพทย์ โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลเวชธานี

โรคปอดอักเสบในเด็ก เป็นโรคที่เกิดการอักเสบของเนื้อปอด ซึ่งประกอบด้วย หลอดลมฝอย ถุงลม ตลอดจนเนื้อเยื่อและเส้นเลือดที่อยู่โดยรอบ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับแรกในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งอาจเกิดจากการหายใจเอาเชื้อโรคเข้าไป หรือการสูดสำลักเชื้อโรคบริเวณช่องปากลำคอ หรือการสำลักอาหาร และนอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

สาเหตุของโรคมักจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น กลุ่มอายุของเด็ก ระบาดวิทยาในแต่ละท้องที่ ฤดูกาล ลักษณะที่อยู่อาศัยสิ่งแวดล้อม ประวัติการสัมผัสโรค รวมถึงภูมิต้านทานของผู้ป่วยเอง โดยเราพบว่า ยิ่งเป็นเด็กเล็กที่มีภูมิต้านทานต่ำ มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย และรุนแรงกว่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ชนิดของเชื้อก่อโรคก็มีความแตกต่างกับตามอายุ โดยพบว่า เด็กที่มีอายุน้อยหากเป็นทารกแรกเกิดมีโอกาสจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย เช่น Group B streptococcus หรือ Escherichia Coli ได้ เมื่อโตขึ้น อายุน้อยกว่า 1 ปี มีโอกาสติดเชื้อไวรัสได้ถึง 90% อายุเพิ่มขึ้นสาเหตุจากไวรัสจะลดลงและเพิ่มอุบัติการของเชื้อแบคทีเรียมากขึ้น โดยเฉพาะเชื้อ Streptococcus pneumoniae เป็นต้น แต่ในบางครั้งก็อาจพบเป็นสาเหตุการติดเชื้อร่วมกันได้ถึง 30%

ทั้งนี้ ฤดูกาลที่แตกต่างก็มีผลต่อโอกาสของเชื้อก่อโรค เช่น ในฤดูฝนช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน - สิงหาคม ก็พบมีการระบาดของไวรัส RSV มากขึ้น ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม ส่วนใหญ่จะเป็นไวรัส Parainfluenza ส่วนไข้หวัดใหญ่ขณะนี้พบได้เกือบตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน - ฤดูหนาว จะพบเพิ่มมากขึ้น

สำหรับอาการและอาการของโรคปอดอักเสบไม่ว่าจะเกิดเชื้อชนิดใด พบว่าส่วนใหญ่จะไม่แตกต่างกันมากนัก คือ มักจะมีอาการไข้ ไอ หายใจเร็ว หอบ อาจะมีอาการร่วมอื่น ๆ อีก เช่น ถ้าเป็นเหตุจากไวรัสก็อาจมีน้ำมูก ตาแดง เสียงแหบร่วมด้วย ถ้าเป็นในเด็กเล็กบางครั้งอาจมีอาการไอมากจนอาเจียน มีเสมหะมาก ไม่ยอมดื่มนมหรือรับประทานอาหารไม่ได้ ซึมลง รวมทั้งอาจมีอาการชักจากภาวะไข้สูงร่วมด้วย มีการขาดน้ำ มีภาวะเขียวจากการขาดออกซิเจนร่วมด้วยในรายที่รุนแรง ส่วนในเด็กโตที่บอกอาการได้บางครั้งอาจมีอาการเจ็บหน้าอก หรือปวดท้องร่วมด้วย

วิธีการวินิจฉัยและรักษา ในรายที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง หรือผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 3 เดือน มีโรคประจำตัวเช่น โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ เป็นต้น มีอัตราการหายใจที่เร็วกว่าปกติ เช่น มากกว่า 70 ครั้ง / นาที ในเด็กเล็ก หรือมากกว่า 50 ครั้ง / นาที ในเด็กโต หายใจลำบากใช้แรงในการหายใจมากกว่าปกติ เช่น มีอาการหน้าอกบุ๋ม จมูกบาน หรือเสียงหายใจที่ผิดปกติ มีภาวะเขียว ขาดน้ำ เป็นต้น จำเป็นต้องรีบเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อตรวจหาสาเหตุให้การวินิจฉัย ซึ่งมีทั้งการตรวจเลือด ตรวจเสมหะหรือสารคัดหลั่งต่าง ๆ รวมถึงการถ่ายภาพรังสีทรวงอก (x-ray) ให้สารทั้งทางหลอดเลือดรวมถึงยาต่าง ๆ ให้ออกซิเจนเพื่อให้ผู้ป่วยหายใจสบายขึ้น หรือหากรุนแรงอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมด้วย เป็นต้น

สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณพ่อคุณแม่ และผู้ปกครอง สามารถทำได้เพื่อป้องกันภาวะปอดอักเสบ มีหลายวิธีด้วยกัน ดังนี้

1. การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อยอันดับแรกคือ การส่งเสริมให้ลูกได้กินนมให้นานที่สุด โดยไม่ลืมที่จะต้องให้อาหารเสริมตามวัยที่เหมาะสม ฝึกให้ลูกได้รับประทานอาหารที่หลากหลายและมีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่

2. สอนและเสริมสร้าง การรักษาสุขอนามัยส่วนตัว เช่น การกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ รวมถึงการใช้หน้ากากอนามัยในการป้องกันตนเองให้ถูกต้อง การจัดการกันน้ำมูกหรือเสมหะอย่างเหมาะสม

3. ควรจัดสิ่งแวดล้อมในที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม เช่น หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ไม่เข้าไปในสถานที่ที่แออัดในช่วงฤดูกาลที่มีการระบาดของโรค หากจำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงควรพิจารณาถึงสุขลักษณะความสะอาด และตรวจสุขภาพของพี่เลี้ยงด้วย ไม่ควรรีบส่งเด็กไปอยู่เนอสเซอรี่หรือสถานเลี้ยงเด็ก (Day Care) เร็วเกินไป หากมีความจำเป็นควรเลือกสถานที่ที่มีความเหมาะสม สะอาด ปลอดภัยมีจำนวนเด็กที่อยู่ร่วมกันอย่างไม่แออัด

4. ตรวจสุขภาพและรับวัคซีนตามนัด ซึ่งในปัจจุบันมีวัคซีนหลายชนิดที่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุของปอดอักเสบได้ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่, วัคซีนป้องกันปอดอักเสบจากเชื้อ Streptococcus เป็นต้น

หากคุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลลูกน้อยได้อย่างเหมาะสม ก็จะสามารถลดโอกาสการติดเชื้อโรคปอดอักเสบลงได้ ทำให้มีคุณภาพชีวิตรวมถึงสุขภาพในด้านต่าง ๆ ดีขึ้นด้วย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น