“ณรงค์” ลั่นอาชีวะตีกันซ้ำซากสั่งปิด จ่อเพิกถอนใบอนุญาต ด้าน สอศ.- สช. รับลูก ตีกันสั่งปิดชั่วคราว - ปิดถาวรเริ่มทันที เสนอเปลี่ยนเครื่องแบบอาชีวะ คือ ใส่ชุดไปรเวต หรือ ใส่เครื่องแบบเหมือนกัน รอศึกษาข้อดี - เสีย มีข้อสรุปชัดเริ่มได้ทันที
วันนี้ (1 ก.ค.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. ว่า ที่ประชุมหารือถึงปัญหานักศึกษาอาชีวะก่อเหตุทะเลาะวิวาท ซึ่งมีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง รวมถึงมีการเสนอมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันที่มีปัญหาทะเลาะวิวาท และถูกสั่งปิดการเรียนการสอนไปแล้ว 5 - 7 วัน แต่กลับมาก่อปัญหาตีกันอีก สุดท้ายอาจจะต้องถึงขั้นปิดถาวร หรือ เพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้ง อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังมีการพูดถึงสาเหตุที่นักเรียนทะเลาะวิวาท ว่า ไม่ได้เกิดจากปัญหาส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของสถาบัน ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนเครื่องแบบ นักศึกษาอาชีวะให้เหมือนกันทั่วประเทศ โดยมีสองแนวทางคือ แต่งแบบไปรเวททุกคน หรือใส่เครื่องแบบให้เหมือนกันทั่วประเทศ เพราะอย่างน้อยเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้ทุกคนดูกลมกลืน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
“ปัญหานักศึกษาอาชีวะตีกัน แม้จะมีส่วนน้อยแต่ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดี ผู้ปกครองมองว่าให้ไปเรียนแล้วมีปัญหา บุตรหลานอาจได้รับอันตราย จึงส่งให้ไปเรียนสายสามัญแทน กระทบต่อนโยบายการเพิ่มจำนวนนักศึกษาอาชีวะ ในครั้งนี้ ศธ. เอาจริงถ้าผู้บริหารสถาบันไม่ใส่ใจดูแลนักศึกษาให้ดี อาจจะต้องถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตฯ ไม่ใช่แค่ขู่” พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าว
วันเดียวกัน นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการ กอศ. กล่าวภายหลังเปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ พล.ต.ต.อนุศักดิ์ โกมลศาสตร์ ผบก.อก.บช.น. นายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) และผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ประมาณ 40 แห่ง ว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกัน 16 มาตรการ ซึ่งบางมาตรการเป็นมาตรการเก่าที่คงไว้และเพิ่มใหม่ให้เข้มข้นขึ้น เช่น 1. สั่งปิดสถานศึกษาที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาททั้งชั่วคราวและถาวร แต่จะดำเนินการอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับนักศึกษาจำนวนมาก 2. ปรับเปลี่ยนเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษาอาชีวะ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปสรุปข้อดี ข้อเสียใน 2 รูปแบบ คือ เปลี่ยนให้ใส่ชุดไปรเวต มาเรียนพอเข้าสถาบันค่อยใส่เสื้อช็อป หรือใส่เครื่องแบบที่เหมือนกันทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม มีผู้แย้งว่าแม้ใส่เหมือนกันก็ยังรู้ได้ว่าเป็นเด็กอาชีวะ 3.ดำเนินโครงเตรียมความพร้อมอาชีวศึกษา หรือ พรีอาชีวศึกษา 4. ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารร่วมอบรมสร้างระเบียบวินัย 5. ให้แต่ละสถาบันจัดเวลาเข้า - เลิกเรียนไม่ให้ตรงกัน 6. ตรวจค้นอาวุธร้ายแรงทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา เป็นต้น
ด้าน นายอดินันท์ กล่าวว่า ในส่วนของการปิดสถานศึกษาถาวรและปิดชั่วคราวนั้นปัจจุบัน สช. ได้สั่งปิดสถานศึกษาชั่วคราวในวิทยาลัยที่มีเหตุ 3 - 5 วันทันทีอยู่แล้ว เพื่อให้ผู้บริสถานศึกษาครูอาจารย์ได้ทบทวนมาตรการว่ามีจุดบกพร่องตรงไหน และ จะมีการป้องกันอย่างไร ส่วนการปิดสถานศึกษาถาวรนั้นก็คงต้องให้โอกาสและดูเหตุผลก่อนว่าใครเป็นคนก่อเหตุ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่