xs
xsm
sm
md
lg

ไม่พบเชื้อผู้ป่วยเมอร์ส เล็งถกให้ออกจากห้องแยกโรค โค้งสุดท้ายจับตาผู้สัมผัสเมอร์ส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โค้งสุดท้ายเฝ้าสังเกตอาการผู้สัมผัสผู้ป่วยโรคเมอร์ส 36 คนเสี่ยงสูง ชี้ไร้อาการ ผลตรวจเชื้อเป็นลบ พ้นจากการกักตัว ด้านผู้ป่วยชาวโอมานอาการดีขึ้น สารคัดหลั่งทางเดินหายใจไม่พบเชื้อ เว้นในปัสสาวะ เตรียมหารือให้ออกจากห้องแยกโรค รักษาตัวตามปกติ
แฟ้มภาพ การซักซ้อมดูแลผู้ป่วย
วันนี้ (28 มิ.ย.) นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมวอร์รูมโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส ว่า สถานการณ์ขณะนี้ยังยืนยันผู้ป่วยโรคเมอร์สในประเทศไทยเพียง 1 ราย โดยมีผู้สัมผัสโรค 156 คน ซึ่งในสัปดาห์หน้าผู้สัมผัสผู้ป่วยจะสิ้นสุดระยะเวลารับไว้สังเกตอาการ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ 1. ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 36 คน จะได้รับการตรวจร่างกายอย่างละเอียดว่าไม่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ และเก็บสารคัดหลั่งจากบริเวณหลังโพรงจมูก เพื่อตรวจยืนยันเชื้อตามมาตรฐาน ซึ่งต้องให้ผลเป็นลบสองครั้ง จึงให้ออกจากระบบเฝ้าระวังโรคและเดินทางกลับ ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำที่แยกตัวเองที่บ้านก็ให้กลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

นพ.สุรเชษฐ์กล่าวว่า สำหรับอาการผู้ป่วยโรคเมอร์สชาวโอมานที่รักษาตัวอยู่ที่ห้องแยกโรคความดันลบ สถาบันบำราศนราดูร อาการดีขึ้นตามลำดับ รับประทานอาหารได้ ช่วยเหลือตัวเองได้พอควร ได้รับการรักษาโรคระบบทางเดินหายใจ และโรคประจำตัว  ทั้งนี้จะตรวจสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจบริเวณหลังโพรงจมูก ให้มั่นใจว่าไม่มีเชื้อที่จะแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ ก่อนย้ายออกจากห้องแยกโรคความดันลบ ไปรักษาในห้องแยกปกติจนกว่าโรคประจำตัวจะดีขึ้น และปลอดภัยที่จะเดินทางกลับประเทศ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบหาเชื้อในสารคัดหลั่งของแต่ผู้ป่วยชาวโอมานไม่พบเชื้อเมอร์สแล้ว แต่ยังมีอยู่ในปัสสาวะ ดังนั้น วันที่ 29 มิ.ย. จะมีการประชุมของคณะผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างๆ นำโดยศ.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา และระบาดวิทยา ที่ปรึกษากรมควบคุมโรคจะหารือร่วมกันว่าจะสามารถอนุญาตให้ผู้ป่วยรายนี้ออกจากห้องแยกโรคของสถาบันบำราศนราดูรได้หรือไม่ ส่วนของกรณีญาติใกล้ชิดอีก 3 คน ขณะนี้อาการเป็นปกติ แต่ต้องให้อยู่ในห้องแยกโรคต่อจนครบกำหนด14 วัน ในวันที่ 2 ก.ค. นี้ เช่นเดียวกับผู้สัมผัสโรคอีก 156 คน

“ระหว่างวันที่ 27-28 มิ.ย. 2558 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาล คลินิกเอกชน ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประมาณ 250 แห่ง กำชับให้ตระหนักและปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2523 และ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ทั้งในเรื่องการรับรักษาผู้เดินทางจากพื้นที่ติดโรค การแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขทราบ การไม่ให้ผู้ป่วยเดินทางเองด้วยรถสาธารณะ พร้อมแจกเอกสารคำแนะนำการปฏิบัติ” นพ.สุรเชษฐ์กล่าว และว่า สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก ข้อมูลเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. พบผู้ป่วย 1,356 ราย เสียชีวิต 483 รายใน 26 ประเทศ ส่วนประเทศเกาหลีใต้ ข้อมูลวันที่ 27 มิ.ย. 2558 พบผู้ป่วย 182 ราย  เสียชีวิต 31 ราย อย่างไรก็ตาม ขอประชาชนอย่าเชื่อข่าวลือจากทุกทาง “เช็กก่อนแชร์” ข้อมูลผู้ป่วยทางสื่อออนไลน์ เพื่อไม่ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแพร่หลาย เกิดความตระหนก และมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทราบหรือไม่ว่าหลังจากได้รับการอนุญาตให้ออกจากห้องแยกโรคแล้ว ผู้ป่วยชาวโอมานและญาติๆ มีแผนการอยู่ต่อที่ประเทศไทยหรือเดินทางกลับไปยังประเทศของตัวเอง นพ.สุรเชษฐ์ กล่าว ว่า เรื่องนี้ยังไม่ทราบ แต่เบื้องต้นผู้ป่วยดีใจ และพอใจกับผลการรักษาที่ทำให้ตัวเขาสามารถรอดชีวิตจากโรคเมอร์สได้ ส่วนโรคหัวใจซึ่งเป็นประจำตัวของผู้ป่วยอยู่แล้วนั้นไม่ทราบว่าตัวเขาจะไปรักษาต่ออย่างไร

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น