xs
xsm
sm
md
lg

กักตัวนานเริ่มทนไม่ไหว "เฝ้าระวังเมอร์ส" 14 วัน ส่งนักจิตฯปลอบ สธ.ยันไม่รักษาต่างชาติฟรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ยันไม่รักษาต่างชาติเฝ้าระวังเมอร์สฟรี วอน รพ.เอกชนดูแลผู้เฝ้าระวังอาการต้องสงสัยเมอร์สเองได้อย่าส่งต่อ รพ.รัฐ เผยผู้สัมผัสในห้องแยกโรคเริ่มทนไม่ไหว ส่งนักจิตวิทยาช่วยปลอบ ด้านอาการลุงโอมานป่วยเมอร์สดีขึ้น กินข้าวต้มแบบฮาลาลได้ทุกมื้อ ส่วน คร.ชี้แข่งกีฬา ม.โลกที่เกาหลีไม่น่าห่วง

วันนี้ (26 มิ.ย.) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมวอร์รูมเพื่อติดตามความคืบหน้าการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือโรคเมอร์ส ว่า ขณะนี้ไทยพบผู้ป่วยยืนยัน 1 ราย และพบผู้สัมผัสโรค 156 ราย ส่วนกลุ่มที่สัมผัสใกล้ชิดตามได้เกือบครบแล้ว และทุกคนอาการปกติ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทางระบาดวิทยาในปัจจุบันชี้ว่า หากผู้สัมผัสโรคได้รับเชื้อส่วนใหญ่จะแสดงอาการภายใน 1 สัปดาห์แรกหลังสัมผัสโรค ในขณะนี้ได้มีการติดตามผู้สัมผัสโรคต่อเนื่องกว่า 1 สัปดาห์แล้ว ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าถึงขณะนี้โอกาสที่ผู้สัมผัสโรคที่กำลังติดตามอยู่ การติดโรคน่าจะมีน้อยมาก

นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนบุคคลผู้เข้าเกณฑ์การตรวจสอบโรคนั้นพบได้ทุกวัน เพราะในแต่ละวันมีผู้เดินทางที่มาจากประเทศที่ที่มีการระบาด เช่น ตะวันออกกลาง และเกาหลีใต้ ซึ่งบางคนอาจมีอาการไข้ หรือไอ จากสาเหตุต่างๆได้ ซึ่งทุกคนจะได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งทั้งหมดนั้นพบว่าไม่มีการติดเชื้อ ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะเป็นมาตรฐานการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคของ สธ. สำหรับผู้เดินทางกลับจากตะวันออกกลางและเกาหลีใต้ เป็นบุคคลผู้เข้าเกณฑ์การตรวจสอบโรคตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-25 มิ.ย.มีทั้งหมด 95 ราย ในจำนวนนี้มาจากเกาหลีใต้ 55 ราย จากตะวันออกกลาง 40 ราย สำหรับในวันที่ 25 มิ.ย. มีบุคคลผู้เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค รวม 13 ราย จากเกาหลีใต้ 6 ราย จากตะวันออกกลาง 7 ราย ทุกรายได้ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อ

"ส่วนเรื่องการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกที่เกาหลีใต้นั้น ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เนื่องจากเมืองที่จะไปแข่งขันไม่พบการระบาดของโรค และแม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ยังไม่สั่งห้ามเดินทางไปในประเทศที่มีการระบาด และเท่าที่ทราบก็ไม่มีประเทศใดที่ไม่มาร่วมการแข่งขันในครั้งนี้นอกจากเกาหลีเหนือ แต่ สธ.ก็จะไม่ประมาทจะมีการให้คำแนะนำและให้ความรู้กับแพทย์ที่ร่วมเดินทางไปด้วย และภายหลังจากกลับมาก็จะเฝ้าระวังโรค 14 วันเหมือนกับผู้ที่เดินทางไปในประเทศที่มีการระบาดของโรค อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนอย่าเชื่อข่าวลือจากทุกทาง โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ ควรตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนส่งต่อ และโปรดติดตามข่าวสารจาก สธ." อธิบดี คร. กล่าว

ด้าน พญ.จริยา แสงสัจจา ผอ.สถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า อาการป่วยของชายชาวโอมาน อายุ 75 ปีที่ป่วยโรคเมอร์สนั้น อาการดีขึ้นตามลำดับ สามารถหายใจได้เองในอากาศธรรมดา ผลการเอกซ์เรย์ปอดดีขึ้น ลุกนั่งและรับประทานอาหารอ่อนๆ อย่างข้าวต้มแบบฮาลาลได้เองแล้ว โดยทางสถานทูตโอมานก็ยังได้มีการจัดอาหารฮาลาล ซึ่งเป็นแบบโอมานแท้ๆ เช่น ซุป มาให้ผู้ป่วยและญาติทั้ง 3 รายทุกวัน อย่างไรก็ตามสำหรับญาติทั้ง 3 รายอาการปกติดี แต่เราก็ไม่นิ่งนอนใจมีการเก็บตัวอย่างเชื้อส่งตรวจเป็นระยะๆ แต่ก็ไม่พบเชื้อแต่อย่างใด

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัด สธ. กล่าวว่า สิ่งที่อยากชี้แจงคือ รพ.รัฐไม่ได้รับรักษาผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เข้าข่ายเฝ้าะรังโรคเมอร์สฟรี โดยจะเรียกเก็บจากตัวผู้ป่วยเอง หรือประกันชีวิตที่ผู้ป่วยทำ หรือให้รัฐบาลของผู้ป่วยเป็นผู้จ่าย สำหรับ รพ.เอกชนขณะนี้มีหลายแห่งที่มีขีดความสามารถในการดูแลผู้ป่วยเฝ้าระวังโรคเมอร์สได้ แต่กลับส่งตัวมายังสถาบันบำราศนราดูร อยากจะขอให้ รพ.เอกชนที่มีศักยภาพดูแลเองได้ ให้ดูแลผู้ป่วยเอง ยกเว้นที่เหนือบ่ากว่าแรงจริงๆ ถึงค่อยส่งตัวมา สำหรับผู้ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังติดตามอาการนั้น ซึ่งต้องอยู่แต่ภายในห้องแยกโรคตลอดเวลาจนกว่าจะครบ 14 วันหลังจากสัมผัสผู้ป่วยโรคเมอร์สวันสุดท้าย แม้จะมีการให้ดูโทรทัศน์ เล่นอินเทอร์เน็ต หรือทำกิจกรรมที่ต้องอยู่เฉพาะภายในห้องพบว่า ช่วงแรกๆ ก็พอรับได้ แต่หลังจาก 7-8 วันไปแล้ว เริ่มทนไม่ไหว เพราะต้องอยู่แต่ภายในห้องเพียงอย่างเดียว จึงได้มีการส่งนักจิตวิทยาลงไปพูดคุยให้เข้าใจ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น