xs
xsm
sm
md
lg

แจงข้อดีเปิด-ปิดเทอมตามอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทปอ.แจงข้อดีเปิดปิดเทอมอาเซียน คลายกังวลผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษา ลดปัญหาการจราจร เด็ก ม.6 ได้เรียนจบจบหลักสูตร มีเวลาปรับพื้นฐานก่อนเข้ามหาวิทยาลัย

วันนี้ (26 มิ.ย.) ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ข้อกังวลของผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษา เรื่องการเปิด-ปิดเทอมตามอาเซียน อาจจะมีผลกระทบต่อนักเรียนนั้น ทปอ.ได้ทำหนังสือชี้แจงเหตุผลของ ทปอ. เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษาแล้ว โดย ทปอ.เห็นพ้องกันว่า การเกิดประชาคมอาเซียนมีผลกระทบต่อระบบการศึกษาหลายด้าน เช่น จำนวนปี จำนวนหน่วยกิตของแต่ละหลักสูตร การประเมินผลการศึกษา เป็นต้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างความกลมกลืนเทียบเคียงของระบบการศึกษา เพื่อให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน ทั้งการเทียบโอนหน่วยกิต ภาษาที่ใช้เป็นสื่อกลางทางการศึกษา การแลกเปลี่ยนนักศึกษา/นักวิชาการ การเปิด-ปิด ภาคการศึกษาที่สอดคล้องกัน และการรับรองคุณวุฒิและมาตรฐานวิชาชีพชั้นสูง เนื่องจากจะมี 8 อาชีพเสรีในอาเซียน ได้แก่ วิศวกรรมศาสตร์ การสำรวจ สถาปัตยกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ ทันแพทยศาสตร์ พยายาลศาสตร์ บัญชี และการบริการ/การท่องเที่ยว

สำหรับการปรับปฏิทินการศึกษานั้น ทปอ.ได้ใช้เวลาในการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียอย่างละเอียด ตลอดจนพิจารณามาตรการบางประการเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในการปรับ ช่วงเปิด-ปิดภาคเรียน ทั้งนี้ ข้อดีของการเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนอาเซียน คือ 1. การเปิดปิดภาคการเรียนสอดรับกับประเทศอาเซียน และประเทศผู้นำทางการศึกษาในโลกตะวันตก เช่น อังกฤษ แคนาดา สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งเปิดภาคเรียน ส.ค. ก.ย.เช่นกัน และประเทศส่วนใหญ่ของอาเซียน 8 ประเทศก็เปิดภาคการศึกษาใน ส.ค.และ ก.ย. มีเพียง 2 ประเทศที่ต่างออกไป ได้แก่ พม่า และ ฟิลิปปินส์ 2. การเปลี่ยนนักศึกษา และอาจารย์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในไทยกับนานาชาติดำเนินการได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ทั้งด้านวิชาการ วัฒนธรรม และการแข่งขันกีฬา

3. การรับนักศึกษาต่างชาติ เพื่อเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของไทย จะสะดวกขึ้น เพราะระยะเวลาการเปิดปิดภาคเรียนสอดคล้องต้องกัน รวมถึงนักศึกษาไทยที่สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานจากโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยด้วย ในปี พ.ศ. 2555 มีนักศึกษาจากประเทศอาเซียนเข้ามาศึกษาในประเทศไทยถึง 2,346 คน จากสหรัฐอเมริกา 379 คน จากยุโรป 563 คน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย เมื่อประชาคมอาเซียนมีผลในวันที่ 31 ธ.ค. 2558 นี้ 4. การ ปิดภาคเรียนในฤดูฝน มีข้อดีคือ ลดปัญหา อุปสรรคในการเดินทาง ลดปัญหาการจราจรคับคั่งที่จะติดขัดอย่างมากในช่วงฤดูฝน นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดผลดีคือ มีการเจ็บป่วยของโรคระบบทางเดินหายใจ และโรคหวัดลดลง จึงทำให้มีการขาดเรียนน้อยลง

5. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สามารถอยู่ในห้องเรียนจนจบหลักสูตร เพื่อสมัครเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัย มีเวลาในการเตรียมความพร้อมเพื่อปรับพื้นฐานก่อนเปิดภาคเรียน และ 6. การพิจารณาและกำหนดแนวทางรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การฝึกสอนของนักศึกษาครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ การดำเนินการชดใช้ทุนขจองแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร ตลอดจนเรื่องการเกณฑ์ทหารซึ่งได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดผลกระทบดังกล่าวมาโดยตลอด จึงทำให้ผลกระทบดังกล่าวลดน้อยลงและก็จะประสานงานต่อไปจนผลกระทบดังกล่าวหมดไป

“เหตุผลที่ ทปอ.ต้องทำหนังสือชี้แจงเหตุผลและข้อดีของการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียนนั้น เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาและผู้ปกครองที่อาจยังสับสนและกังวลใจในเรื่องการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียนตามที่มีการทักท้วงว่าช่วงเวลาที่เลื่อนไปไม่สอดคล้องกับสภาพอากาศของประเทศไทยนั้น ได้เข้าใจถึงเหตุผลแท้จริงว่ามีผลดีอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะกับเด็ก ม.6 เองเป็นผู้ได้ประโยชน์มากที่สุดเพราะเด็กได้อยู่ในชั้นเรียนและเรียนจบครบตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ความรู้ครบถ้วนไม่ต้องทิ้งเวลาเรียนและห้องเรียน เพราะฉะนั้น ในการประชุม ทปอ.ที่ผ่านมาที่มหาวิทยาลัยนครพนม (มนพ.) ทปอ.จึงมีมติยืนยันให้ให้การเปิด-ปิดภาคเรียนของสถาบันอุดมศึกษา เป็นไปตามกรอบเวลาเดิม คือ ภาคเรียนที่ 1 เปิด ส.ค.- ธ.ค. และภาคเรียนที่ 2 ม.ค.-พ.ค. และปิดภาคเรียนเดือน มิ.ย.-ส.ค.

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น