ในบรรดาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังโรคมะเร็งเป็นอีกโรคหนึ่งซึ่งเป็นสาเหตุการตายในอันดับต้นๆ ของประชากรทั่วโลก โดยโรคมะเร็งที่พบมากในผู้ชายได้ แต่มะเร็งปอด รองลงมาคือ มะเร็งลำไส้ ส่วนในผู้หญิงได้แก่ มะเร็งเต้านม ตามมาด้วย มะเร็งลำไส้ เราจะเห็นได้ว่าโรคมะเร็งลำไส้พบมากในทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยจากรายงานของสถาบันมะเร็งแห่งชาติในช่วงปี 2554 พบว่า ช่วงอายุที่พบมะเร็งลำไส้มาก คือ ช่วง 50 - 70 ปี แต่มีแนวโน้มที่คนอายุน้อยจะเกิดมะเร็งลำไส้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ ได้แก่ อายุ พันธุกรรม สูบบุหรี่ การขับถ่ายผิดปกติ และที่สำคัญคือ อาหารที่รับประทานเป็นประจำ หลากหลายการศึกษาทางระบาดวิทยาก็ให้การยืนยันถึงพฤติกรรมการบริโภคอาหารกับการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ว่าอาหารมีส่วนทั้งเร่งการเกิดมะเร็งลำไส้และอาหารเองก็เป็นตัวช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้เช่นกัน
จากการศึกษาพบว่าชนชาติหนึ่งพบการเกิดโรคมะเร็งลำไส้น้อยกว่าชนชาติอื่น นั่นคือ ชนกลุ่มแอฟริกัน กลุ่มนักวิจัยจึงสนใจศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของคนแอฟริกัน จนพบว่าคนแอฟริกันนิยมรับประทานผักผลไม้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผักและผลไม้สด เช่น กล้วย สับปะรด มะละกอ มะม่วง อะโวคาโด มะเขือเทศ แครอท หัวหอม มันฝรั่ง และ กะหล่ำปลี ส่วนแหล่งของคาร์โบไฮเดรตก็จะรับประทานข้าว กล้วย และ ข้าวโพด เป็นอาหารหลัก โดยเนื้อสัตว์จะรับประทานในวันพิเศษเท่านั้น ในกลุ่มของขนมหวานชาวแอฟริกันก็จะใช้กล้วยเอาไปนึ่ง บดเป็นขนมหวานแทนการใช้น้ำตาล แป้งและไขมันในแบบปกติ
หลักการรับประทานอาหารแบบคนแอฟริกัน
•เน้นผักสีเขียว เช่น ผักโขม ผักคะน้า ผักกาดเขียว และผักพื้นบ้านสีเขียวเข้ม นำมาทำซุป หรือเคี่ยวไว้ทานกับข้าวโพด ซึ่งพืชสีเขียวจะช่วยทำความสะอาดลำไส้ วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ในผักผลไม้ก็ยังมีส่วนช่วยในการลดปริมาณของสารอนุมูลอิสระในร่างกายที่ก่อให้เกิดเซลล์มะเร็ง
•ในทุกๆ มื้อจะต้องมีผัก ผลไม้ และธัญพืช รวมถึงถั่ว เช่นถั่วขาว ถั่วแดง
•เน้นการรับประทานอาหารทั้งเปลือก เช่นมันฝรั่งทั้งเปลือก มะม่วงทั้งเปลือก ฟักทองทั้งเปลือก
•รับประทานปลาอาทิตย์ละ 2-3 ครั้งโดยปลาที่รับประทาน เช่น ปลาทูน่า ปลาแมกเคอเรล ปลาเซลมอน ปลาซาร์ดีน ซึ่งนิยมนำมาเคี่ยวเป็นซุปรับประทานทั้งตัวโดยรับประทานก้างด้วย เพื่อให้ได้วิตามินดีและแคลเซียม
• ใช้น้ำมันในการปรุงประกอบอาหารเพียงเล็กน้อยโดยใช้น้ำมันมะกอก น้ำมันงา น้ำมันมะพร้าว
•รับประทานเนื้อสัตว์อื่นๆ เพียงเล็กน้อย ใช้เป็นเพียงโรยหน้า หรือตกแต่งอาหารแทนที่จะรับประทานเป็นหลัก
•ไม่เน้นการดื่มนมแต่ดื่มน้ำนมข้าวโพด น้ำนมอัลมอนด์ น้ำนมถั่วต่างๆ
•ไม่ค่อยรับประทานของหวาน รับประทานอาทิตย์ละครั้งถึงสองครั้ง
• ดื่มน้ำวันละ 2 ลิตรขึ้นไป
• เคี้ยวอาหารให้ช้า
•ปลูกผักและผลไม้บางอย่างเพื่อรับประทานเอง
นอกจากอาหารที่เน้นอาหารที่มาจากธรรมชาติไม่ผ่านการแปรรูปแล้วชนชาติแอฟริกันยังมีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารที่ต้องใช้เวลาในการรับประทานอาหารค่อนข้างนาน คือต้องเคี้ยวอาหารให้ละเอียด ไม่เร่งรีบในการรับประทานอาหาร มีความสุขกับการรับประทานอาหาร รวมถึงอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ในคนแอฟริกันคือคนแอฟริกันจะเดินเยอะซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยให้ระบบการทำงานของลำไส้ดีขึ้นและลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ได้
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่