xs
xsm
sm
md
lg

ดูดบุหรี่เสี่ยงมะเร็งปอด 16 เท่า “อาหารไขมันสูง-ดวดเหล้า” เพิ่มโอกาสด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรมการแพทย์เผยสูบบุหรี่เสี่ยงมะเร็งปอดมากกว่าคนไม่สูบ 16 เท่า ระบุการรับควัน แร่ใยหิน สารเคมี กินอาหารไขมันสูง ดื่มเหล้า เพิ่มโอกาสเสี่ยงมะเร็งปอดด้วย แนะหลีกเลี่ยง ออกกำลังกาย เน้นผักผลไม้

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันที่ 31 พ.ค. ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายและโทษของบุหรี่ เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอดที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ผู้ที่เป็นมะเร็งปอด ร้อยละ 90 เป็นผลมาจากการสูบบุหรี่ โดยผู้ที่สูบบุหรี่เกินวันละ 1 ซอง จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 16 เท่า ทั้งนี้ มะเร็งปอดเกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ จะตรวจพบได้เมื่อมีขนาดใหญ่ มีจำนวนมากและแพร่ไปตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจน แต่พบว่าบุหรี่เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยง

สารในบุหรี่สามารถทำลายเซลล์ปอด ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนมวนและปีที่สูบ นอกจากนี้ การได้รับสารพิษและมลภาวะในสิ่งแวดล้อม เช่น ควัน แร่ใยหิน สารหนู รังสี และสารเคมีอื่นๆ รวมไปถึงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ความเสี่ยงก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น โดยทั่วไปความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปี ผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคมะเร็งปอด มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแม้จะไม่ได้สูบบุหรี่ โดยผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการลดปัจจัยเสี่ยงและวางแผนการตรวจสุขภาพ” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

นพ.สุพรรณ กล่าวว่า มะเร็งปอดระยะเริ่มต้นมักไม่แสดงอาการ แต่จะพบอาการเมื่อก้อนมะเร็งโตจนไปกดหลอดลมหรือลุกลามไปสู่อวัยวะอื่น เช่น ไอเรื้อรัง หายใจสั้น เจ็บบริเวณหน้าอก ไอมีเลือด หอบเหนื่อย หน้าและแขนบวม น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหาร หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค โดยการตรวจร่างกาย เอกซ์เรย์ปอด ตรวจเสมหะและชิ้นเนื้อจากปอด หากป่วยเป็นมะเร็งปอดแพทย์จะผ่าตัดกรณีที่ก้อนไม่ใหญ่ การฉายแสงร่วมกับการให้เคมีบำบัด เพื่อช่วยยับยั้งชะลอการลุกลามและรักษาประคับประคองไปตามอาการ สำหรับผู้ป่วยเมื่อมีอาการดีขึ้นหลังรักษา ควรออกกำลังกายด้วยการเดินวันละ 15 - 30 นาที เพื่อส่งเสริมการทำงานของปอดและหัวใจ พบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำและการเกิดมะเร็งที่อวัยวะอื่น อย่างไรก็ตาม การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ ควรเลิกสูบบุหรี่และการได้รับมลพิษในสิ่งแวดล้อม รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง และการดื่มสุรา เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น