xs
xsm
sm
md
lg

กรมศิลป์ทุ่ม 500 ล.สร้างคลังพิพิธภัณฑ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมศิลป์ทุ่ม 500 ล้านบาท สร้างคลังพิพิธภัณฑ์กาญจนาภิเษก จ.ปทุมธานี ใช้ต้นแบบญี่ปุ่น มีระบบควบคุมอุณหภูมิ ป้องกันภัยพิบัติ คาดแล้วเสร็จปี 2560

นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากรมีแนวทางพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 44 แห่งทั่วประเทศ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น หลังจากพบว่า พิพิธภัณฑ์หลายแห่งประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรผู้ปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะภัณฑารักษ์ ประจำพิพิธภัณฑ์ บางแห่งมีเพียง 1 คน รวมถึงสถานที่เก็บโบราณวัตถุก็มีขนาดเล็กยากต่อการขยายและพัฒนา ในขณะที่โบราณวัตถุก็มีเข้ามาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2559 กรมศิลปากรจึงได้จัดสรรงบประมาณ 500 ล้านบาท สร้างคลังพิพิธภัณฑ์กาญจนาภิเษกขึ้นในพื้นที่ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี สำหรับเป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุที่ยังไม่มีการนำไปจัดแสดง และอยู่ในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในเขตภาคกลาง ซึ่งมีจำนวนมากมารวมไว้ด้วยกัน พร้อมแบ่งประเภทโบราณวัตถุออกเป็น 8 ประเภท และจัดแสดงไว้ ใน 8 ห้อง แต่ละห้องจะมีพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่างๆ สามารถขอยืมโบราณวัตถุ เพื่อนำไปจัดแสดงให้ความรู้แก่ประชาชนได้ซึ่งจะเป็นการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนการจัดแสดงโบราณวัตถุให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2560

ทั้งนี้ การก่อสร้างคลังพิพิธภัณฑ์กาญจนาภิเษก ได้มีการนำข้อมูลจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติคิวจู ประเทศญี่ปุ่น มาปรับใช้ให้เข้ากับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของไทย โดยภายในห้องที่เก็บโบราณวัตถุจะมีการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น พร้อมทั้งเตรียมแผนรองรับการเกิดแผ่นดินไหว หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตลอดจนมีแผนในการเชื่อมต่อระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ของทุกพิพิธภัณฑ์เข้าไว้กับคลังพิพิธภัณฑ์กาญจนาภิเษก เพื่อให้ภัณฑารักษ์สามารถเรียกดูข้อมูลภายในคลังพิพิธภัณฑ์ กรณีที่ต้องการนำโบราณวัตถุมาจัดนิทรรศการ หรือ เพื่อศึกษาหาความรู้ได้

พร้อมกันนี้ กรมศิลป์ยังได้วางแผนที่จะดำเนินการจัดสร้างคลังพิพิธภัณฑ์ในลักษณะเดียวกันนี้ ทั้งหมด 5 แห่งทั่วประเทศ กระจายตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งแต่ละแห่งจะนำอัตลักษณ์ของพื้นที่มาสร้างจุดแข็งให้เกิดความน่าสนใจ โดยมุ่งหวังให้เกิดการจัดนิทรรศการชั่วคราวขึ้นอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง ซึ่งจะเกิดความเคลื่อนไหว ความตื่นตัวในการอนุรักษ์และการพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ยั่งยืนในอนาคต

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น