xs
xsm
sm
md
lg

เตือนเปิบเห็ดป่าไม่รู้จัก เสี่ยงเจอเห็ดพิษถึงตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรมอนามัยเตือนอย่ากินเห็ดป่าที่ไม่รู้จัก เสี่ยงเจอเห็ดพิษ อันตรายถึงชีวิต ระบุหากกินเห็ดพิษต้องรีบทำให้อาเจียนมากที่สุด ก่อนส่งโรงพยาบาล ส่วนเห็ดเพาะต้องล้างให้สะอาด

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วง พ.ค. -พ.ย.ทุกปี จะพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษตามธรรมชาติ ได้แก่ เห็ดตับเต่าบางชนิด เห็ดระโงกหิน เห็ดสมองวัว เห็ดน้ำหมึก เห็ดหิ่งห้อย และเห็ดเกล็ดดาว โดยเห็ดที่มีพิษรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตที่พบบ่อย คือ เห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือ เห็ดสะงาก และเห็ดไข่ตายซาก ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกับเห็ดระโงกที่กินได้ และผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษส่วนใหญ่เกิดจากความมั่นใจว่าเป็นเห็ดไม่มีพิษ เพราะลักษณะของเห็ดพิษกับเห็ดที่กินได้คล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะขณะที่ดอกเห็ดยังตูม ซึ่งข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี 2557 มีรายงานผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษรวม 1,200 ราย เสียชีวิต 10 ราย

นพ.พรเทพ กล่าวว่า การเก็บเห็ดที่ขึ้นตามธรรมชาติมากิน จะต้องเป็นเห็ดที่รูปร่างสมบูรณ์ เก็บให้ครบทุกส่วนโดยขุดให้ลึก อย่าเก็บเห็ดหลังพายุใหม่ๆ เพราะสีบนหมวกของเห็ดบางชนิดอาจถูกฝนชะล้างให้จางลงได้ ไม่เก็บเห็ดที่ขึ้นใกล้โรงงานสารเคมี สนามกอล์ฟ หรือข้างถนน เนื่องจากเห็ดสามารถดูดซับสารพิษและโลหะหนักไว้ในตัวได้มาก เห็ดที่ไม่เคยกินมาก่อนควรกินเพียงเล็กน้อย เพราะอาจมีอาการแพ้ได้ และห้ามกินเห็ดโดยดิบๆ เด็ดขาด ส่วน วิธีการสังเกตเห็ดพิษ คือ เห็ดที่มีสีน้ำตาล เห็ดที่ปลอกหุ้มโคน เห็ดที่มีวงแหวนใต้หมวก เห็ดที่มีโคนอวบใหญ่ เห็ดที่มีปุ่มปม เห็ดที่มีหมวกสีขาว เห็ดที่มีหมวกเห็ดเป็นรูๆ แทนที่จะเป็นช่องๆ คล้ายครีบปลา เห็ดตูมที่มีเนื้อในสีขาว เห็ดที่ขึ้นในมูลสัตว์หรือใกล้มูลสัตว์

ที่สำคัญ ไม่ควรเก็บเห็ดหรือหาซื้อเห็ดป่าที่ไม่รู้จักมาปรุงอาหาร แต่หากประชาชนกินเห็ดพิษเข้าไปจะต้องได้รับการปฐมพยาบาลช่วยเหลือก่อนส่งโรงพยาบาล โดยทำให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมาให้มากที่สุดด้วยการดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือแกงแล้วล้วงคอออก หรือใช้ผงถ่านผสมน้ำอุ่นเพื่อดูดพิษ ลดการดูดซึมเข้าร่างกาย แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลทันทีพร้อมนำเห็ดที่กินไปด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวและว่า ส่วนเห็ดที่มีการเพาะและนำมาบริโภคได้นั้น จัดเป็นอาหารที่เป็นแหล่งโปรตีนที่ดี มีรสชาติและกลิ่นชวนรับประทาน ให้พลังงาน มีใยอาหารสูง โปแตสเซียมสูง โซเดียมและน้ำตาลต่ำ มีคุณประโยชน์มาก ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงมะเร็ง ลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แต่ก่อนนำมาปรุงอาหารควรล้างผ่านน้ำหลายๆ ครั้ง หรือล้างตามขั้นตอนการล้างผัก และในหนึ่งเมนูอาจใช้เห็ดหลายๆ ชนิดในการปรุง เช่น ยำเห็ดสามอย่าง แกงเลียงเห็ด แกงจืดเห็ด แกงส้มเห็ด แกงลาวเห็ด ต้มยำเห็ด เป็นต้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น