xs
xsm
sm
md
lg

เปิดปมจิตใจ “เด็กอัดคลิปรับสมัครแฟนคลับ” เทรนด์ใหม่สุดอันตราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จิตแพทย์ชี้เด็กอัดคลิปรับสมัครแฟนคลับ เหตุอยู่ในวัยพัฒนาภาพลักษณ์และความภาคภูมิใจในตัวเอง แต่ขาดการใช้งานโซเชียลมีเดียวอย่างเข้าใจ ครอบครัวไม่ได้ดูแล พ่วงอยากมีอยากเป็นแบบดารา เน็ตไอดอล ห่วงเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวสุดอันตราย เสี่ยงถูกล่อลวง พบบางรายอัดคลิปแล้วถูกด่่าวิจารณ์รุนแรง ทำสูญเสียความมั่นใจ แนะแสดงความสามารถ จะมีคนชื่นชมโดยไม่ต้องร้องขอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ในสังคมออนไลน์เกิดปรากฏการณ์เด็กจำนวนมากได้อัดคลิปวีดิโอเพื่อประกาศรับสมัครแฟนคลับ (FC) โดยมีการบอกชื่อและที่อยู่ให้แฟนคลับ พร้อมแจกไอดีไลน์ ชื่ออินสตาแกรมให้กดเพิ่มเะพื่อนและติดตาม และเมื่อมีคนส่งของขวัญมาให้ทางไปรษณีย์ ก็จะมีการอัดคลิปขอบคุณแฟนคลับด้วย ซึ่งเด็กบางคนนั้นอายุยังไม่ถึง 10 ปี จนทำให้สังคมออนไลน์เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะในเว็บไซต์พันทิปมีการตั้งกระทู้ว่า “อยากทราบว่าคนที่อยากมี FC เขาเป็นแบบนี้กันจริงๆหรอ (ไม่ใช่ดารานักแสดง หรือเน็ตไอดอลต่างๆ นะคะ)” ถึงพฤติกรรมของเด็กเหล่านี้่ว่าเหมาะสมหรือไม่

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์ด้านเด็กและสื่อ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กระแสการรับสมัคร FC เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่เมื่อประมาณ 6-7 เดือนก่อน ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีต้นกำเนิดมาจากไหน แต่เริ่มแพร่หลายขึ้นมากในสังคมออนไลน์ในช่วง 1-2 เดือนมานี้ ซึ่งการรับสมัคร FC นั้นเป็นการใช้สื่อออนไลน์ 2 ชนิดร่วมกัน คือ ยูทิวบ์ และ เฟซบุ๊ก โดยผู้รับสมัครจะถ่ายคลิปตนเองอธิบายกฏเกณฑ์การรับสมัครสมาชิกแบบต่างเพื่อเป็นแฟนคลับของตนเองลงในยูทิวบ์แล้วแชร์ออกไปทางเฟซบุ๊ก เพื่อให้เพื่อนๆได้รับรู้ เป้าหมายหลักเพื่อให้ตนเองได้มีแฟนคลับเป็นของตัวเอง หรือส่งของขวัญ เช่น พวงกุญแจ มาให้เพื่อตนยืนยันการเป็นแฟนคลับ ซึ่งจากการสังเกตพบว่าคลิปเกือบทั้งหมดเป็นเด็กผู้หญิง อายุเฉลี่ยเพียง 10-15 ปีเท่านั้น หรือเป็นวัยที่เริ่มเล่นโซเชียลมีเดียต่างๆ มาไม่นานนั่นเอง

นพ.วรตม์ กล่าวว่า สาเหตุที่เด็กมีพฤติกรรมเช่นนี้ มองว่าเกิดจาก 3 ปัจจัย คือ 1. ตัวเด็กเอง ซึ่งช่วงวัยนี้อยู่ในวัยกำลังพัฒนาภาพลักษณ์และความภูมิใจในตัวเอง เป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้เกิดพฤติกรรม ประกอบกับเด็กยังขาดวุฒิภาวะและความเข้าใจในประโยชน์และโทษของสังคมออนไลน์ แต่กลับสามารถเข้าถึงสังคมออนไลน์ได้แล้ว และมีแนวโน้มที่จะเข้าถึงในอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ เพราะวิธีการใช้งานถูกพัฒนาให้เข้าใจและใช้งานง่าย เรียนรู้เพียง 15 นาทีก็ใช้เป็นแล้ว ซึ่งการใช้งานเป็นไม่ได้แปลว่า “เข้าใจ” 2. ครอบครัว ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาด้วยกันน้อยลง เด็กอยู่กับเทคโนโลยีมากขึ้น ขาดการให้คำแนะนำ และการควบคุมที่เหมาะสม ซึ่งบางครั้งพ่อแม่เองกลับไม่ได้มีความรู้อะไรเกี่ยวกับเทคโนโลยี และ 3. ค่านิยมในสังคม มาจากภาพลักษณ์ของดาราและเน็ตไอดอลต่างๆ ที่ถูกเผยแพร่ออกมาด้วยภาพที่สวยหรูและฟูฟ่า ได้รับการยอมรับจากมวลชน ได้รับคอมเมนต์ชื่นชมจากแฟนคลับ มีการโชว์ของขวัญต่างๆ โดยเฉพาะเน็ตไอดอลที่โด่งดังมากขึ้น งานก็เริ่มเยอะขึ้น รายได้มากขึ้น บางครั้งอาจพัฒนาไปถึงการเป็นดารานักแสดงได้ หลายคนเห็นก็ต้องอิจฉา อยากได้ อยากเป็น และอยากมีบ้าง

“ภาพลักษณ์ที่คนทั่วไป เน็ตไอดอล หรือดารานักแสดง แสดงออกมาทางโลกโซเชียลนั้น บางครั้งก็เป็นจริง บางครั้งก็ไม่จริง บางครั้งก็จริงแต่ไม่ทั้งหมด จากงานวิจัยเฟซบุ๊กขนาดใหญ่เมื่อปีก่อน แสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้มีแนวโน้มการแสดงข้อความด้านบวกมากกว่าด้านลบกว่า 3 เท่า เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ จะมองเห็นเพียงแค่ภาพลักษณ์ชีวิตด้านดีของคนเหล่านั้นเพียงด้านเดียว ภาพเลยสวยหรูเป็นพิเศษ ทำให้เด็กที่ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ต้องการการยอมรับจากผู้อื่น เมื่อเห็นตามนั้นก็จะคิดวิธีการหาแฟนคลับของตนเองบ้าง ด้วยวิธีการแบบต่างๆ กันออกไป เพื่อที่ให้ตัวเองมีชื่อเสียง มีคุณค่ามากขึ้น หรือแม้กระทั่งเป็นการปูทางไปสู่เน็ตไอดอลต่อไป” นพ.วรตม์กล่าว

นพ.วรตม์กล่าวว่า จากการติดตามพบว่า พฤติกรรมดังกล่าวจะส่งผลรุนแรงใน 2 เรื่อง คือ 1. ด้านความปลอดภัย (Internet Safety) เพราะมีเปิดเผยตัวเองชัดเจน ทั้งข้อมูลส่วนตัว เลขประจำตัวประชาชน รวมไปถึงที่อยู่ นับว่าอันตรายมาก ข้อมูลอาจถูกนำไปใช้ในทางมิชอบ นำไปสู่การล่อลวง และอาชญากรรมต่างๆ และ 2. การถูกกลั่นแกล้งในโลกอินเทอร์เน็ต (Internet Bullying) ซึ่งเท่าที่ติดตามพบว่า เด็กหลายคนที่ลงคลิปถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากผู้ชมจำนวนหนึ่ง มีการใช้สำนวนดูถูกภาพลักษณ์ ถูกล้อเลียนกลั่นแกล้งเหมือนตัวตลก บางครั้งถึงขั้นถูกทำคลิปขึ้นมาล้อเลียน ก็จะทำให้เกิดความเสียใจและสูญเสียความมั่นใจเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ตัวเด็กควรทำความเข้าใจถึงประโยชน์และโทษของโซเชียลมีเดียให้รอบด้านมากขึ้น เลือกรูปแบบการใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ไม่พยายามขวนขวายที่จะต้องได้ ต้องมี ต้องเป็น เพราะชีวิตจริงไม่มีใครที่มีชีวิตที่สวยหรู 100% เราควรบอกตัวเองว่าแม้วันนี้จะไม่มีแฟนคลับ แต่ถ้าวันหนึ่งเราตั้งใจและพยายามจนสามารถแสดงความสามารถของตัวเองออกมาได้อย่างโดดเด่นและน่าภาคภูมิใจแล้ว วันนั้นก็จะมีคนมาติดตามชื่นชมเองโดยไม่ต้องร้องขอจากใคร สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองควรดูแลและเรียนรู้การใช้โซเชียลมีเดียให้ทันยุคสมัย ติดตามการใช้งานของลูกหลานอย่างใกล้ชิด พูดคุยเรื่องการใช้งานอย่างเปิดอกด้วยความเข้าใจ สร้างค่านิยมที่ถูกต้อง ลดวัตถุนิยม สร้างความมั่นใจในตัวเองกับลูก ให้ความชื่นชมในความสามารถที่ลูกมี เพราะสุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเด็กทุกคนคือการยอมรับจากพ่อแม่ ที่เป็นแฟนคลับตัวจริงที่ลูกทุกคนต้องการ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น